ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวนาเร่งปรับตัว หลังไร้โครงการรับจำนำข้าว

เศรษฐกิจ
31 ส.ค. 61
07:01
1,928
Logo Thai PBS
ชาวนาเร่งปรับตัว หลังไร้โครงการรับจำนำข้าว
ชาวนาบางส่วนปรับตัวหาอาชีพเสริม หรือหันไปปลูกข้าวที่มีความแตกต่าง เพื่อเพิ่มมูลค่าหวังเพิ่มรายได้เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากภาครัฐปล่อยให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาดเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว และระบายข้าวจากสต๊อกโครงการรับจำนำข้าว ล็อตสุดท้าย เมื่อวานนี้

เมื่อวานนี้ (30 ส.ค.2561) นายพยง แสนทอง ชาวนา ต.โคกช้าง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า นับตั้งเเต่ไม่มีโครงการจำนำข้าว ต้องปรับตัวด้วยการลงทุนขุดบ่อเพื่อเลี้ยงปลา ส่งขายหวังสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ส่วนนาลงมือทำเองเกือบทุกขั้นตอนจ้างงานเท่าที่จำเป็น แต่ต้นทุนยังสูง เนื่องจากปัจจัยการผลิตไม่ได้ปรับลดลง โดยลองไปปลูกพืชอื่น รวมทั้งพยายามเรียนรู้มาตรการที่รัฐออกมาช่วยเหลือ เช่น นาแปลงใหญ่ เเละปลูกข้าวอินทรีย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากวิธีคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

 

 

 

 

ขณะที่นายเกษม สุขเกษม ชาวนา จ.ลพบุรี กล่าวว่า ตัดสินใจหันไปปลูกข้าวแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี สีข้าว บรรจุถุง และวางขายเองผ่านออนไลน์ ทุกขั้นตอนลงมือทำเอง ซึ่งวิธีการนี้ทำให้มีรายได้ดีกว่าเดิมหลายเท่า โดยหากเป็นข้าวขาวเก็บเกี่ยวและขายให้โรงสีจะได้ราคา 6,000 บาทต่อตัน หรือกิโลกรัมละ 6 บาท แต่หากเป็นข้าวไรซ์เบอร์รีอินทรีย์จะขายได้ถึงกิโลกรัมละ 100 บาท

 

 

 

 

สำหรับชาวนาทั้ง 2 คน ถือเป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ปรับตัว เพื่อความอยู่รอดยังมีอีกมากที่เพิ่มมูลค่า และนำประโยชน์จากข้าวไปทำเป็นเครื่องสำอาง ไปเเปรรูปทำอาหารอื่นๆ ซึ่งหลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาล คสช.ปล่อยให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกการตลาดราคาข้าวจาก 15,000 บาทต่อตัน ลดลงมากว่าครึ่งอยู่ที่ตันละ 6,000-7,000 บาท ขณะที่ปัจจัยการผลิตราคาลดลงเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

ส่วนต้นทุนการทำนาในเขตชลประทานอยู่ที่ 3,000-4,000 บาท ขณะที่นอกเขตชลประทานไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท สิ่งที่ชาวนาอยากให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือมากที่สุด คือลดราคาปัจจัยการผลิต และดูเเละราคาข้าวให้อยู่ 8,000-9,000 บาท จะช่วยให้รายได้ของชาวนาดีขึ้น เเละสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง