WHO เตือนทั่วโลกคุมเข้มโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้า

สังคม
26 ต.ค. 61
12:14
2,225
Logo Thai PBS
WHO เตือนทั่วโลกคุมเข้มโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้า
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ชี้องค์การอนามัยโลก ออกประกาศให้ทุกประเทศควบคุมการโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากพบสารเคมีอันตรายที่ไม่มีในบุหรี่มวน และงานวิจัยพบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เด็กต้องการสูบบุหรี่มวนเพิ่มมากขึ้น

วันนี้ (26 ต.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พญ.เริงฤดี  ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงกรณีการห้ามนำเข้าและจำน่ายบุหรี่ไฟฟ้าว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการประชุมและทบทวนมาตรการต่างๆ ในประเด็นทางสุขภาพตลอด โดยล่าสุดเมื่อการประชุมในเดือน ต.ค.ผ่านมา ยังมีคำแนะนำ สำหรับมาตรการในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า โดยสนับสนุนให้ทุกประเทศควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และควบคุมการโฆษณา การทำการตลาดเพื่อลดการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า

ขณะที่ในเวทีประชุมมีประเด็นข้อถกเถียงเรื่องความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับบุหรี่มวนอยู่ คือ บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากหรือน้อยกว่าบุหรี่มวนนั้น ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้อย่างชัดเจน แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีสารจากการเผาไหม้ใบยาสูบ แต่ก็มีสารเคมีอื่นที่ไม่มีในบุหรี่มวน โดยบุหรี่ไฟฟ้ามีเคมีอันตราย 6 กลุ่ม อาทิ สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก สารแต่งกลิ่น อนุภาคที่ทำให้เกิดพิษที่ปอด และมีนิโคตินสูงกว่าบุหรี่แบบมวน เมื่อเทียบกับมวนต่อมวน

ประเด็นต่อมา คือ บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เลิกบุหรี่มวนได้หรือไม่ พบว่า นักวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทบทวนงานวิจัย 37 ชิ้น โดยร้อยละ 80 ชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยเลิกบุหรี่มวน และยังทำให้เลิกบุหรี่มวนได้น้อยลง

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา วางกฎระเบียบเพื่อห้ามทำการตลาดบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น โดยพบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เมื่อเก็บข้อมูลต่อเนื่อง 3 ปี พบว่าเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีการสูบบุหรี่มวนมากขึ้น 3-7 เท่า วิเคราะห์ว่า เนื่องจากเด็กเคยชินกับกลิ่น ควัน วิธีการสูบ ทำให้หันไปสูบบุหรี่มวนได้มากขึ้น

สำหรับประเทศไทย พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตเมือง มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 30 และเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็ยิ่งเพิ่มอัตราการสูบมากขึ้น ส่วนข้อมูลสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า อายุเฉลี่ยในการเริ่มสูบบุหรี่ต่ำกว่า 20 ปี อยู่ที่ร้อยละ 80 และมากกว่าร้อยละ 60 กลายเป็นผู้สูบประจำหลังจากเริ่มสูบครั้งแรกในเวลา 1 ปี 

 

 

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

ผลวิจัยพบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่มวน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง