คกก.แถลงผลสอบกรณีสาวถูกสาดน้ำกรด พรุ่งนี้

สังคม
19 พ.ย. 61
16:40
966
Logo Thai PBS
คกก.แถลงผลสอบกรณีสาวถูกสาดน้ำกรด พรุ่งนี้
คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง รพ.พระราม 2 สรุปผลกรณีสาวถูกสามีสาดน้ำกรด ส่งอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงผลพรุ่งนี้ (20 พ.ย.) ด้าน "อัจฉริยะ" นำพยานให้ถ้อยคำมั่นใจเอาผิด รพ.ได้

วันนี้ (19 พ.ย.2561) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนคณะที่ 3 พิจารณากรณีโรงพยาบาลพระราม 2 ปฏิเสธการรักษา น.ส.ช่อลัดดา ทาระวัน คนไข้ถูกสาดน้ำกรดและเสียชีวิต

โดยการให้ข้อมูลในครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญตัวแทนจากโรงพยาบาลบางมด เข้าชี้แจงคณะแรก ต่อมาเป็นคณะของนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมพาน้องเตเต้ บุตรสาววัย 12 ปีของ น.ส.ช่อลัดดา นายสิทธิชัย ไชยเดช แท็กซี่คันที่ 1 นายสงัด ดัชชุยาวัตร แท็กซี่คันที่ 2 และคณะสุดท้ายคือโรงพยาบาลพระราม 2

ภายหลังการประชุมนานกว่า 5 ชั่วโมง เมื่อเวลา 18.00 น.นางจันฑนา จินดาถาวรกิจ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย หนึ่งในคณะอนุกรรมการพิจารณากรณีโรงพยาบาลพระราม 2 ส่งต่อผู้ป่วยถูกสาดน้ำกรดจนเสียชีวิตว่า จากการเชิญทุกฝ่ายเข้ามาให้ข้อมูลพิจารณาข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงเสียชีวิตถือว่าข้อมูลครบถ้วน ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งให้กับ นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในวันพรุ่งนี้ (20 พ.ย.) และจะสรุปผลการพิจารณาและแถลงต่อสาธารณชนในเวลา 11.00 น. 

คณะกรรมการได้ตรวจสอบหลักฐาน เช่น กล้องวงจรปิดในห้องฉุกเฉิน รพ.พระราม 2 และพยานบุคคลที่เขาชี้แจง ซึ่งถือว่าครบถ้วน ขณะที่ผลสอบสวนขอให้รออธิบดี สบส.แถลงผลการพิจารณาทั้งหมด

“อัจฉริยะ” มั่นใจเอาผิดได้

 

นายอัจฉริยะ กล่าวภายหลังจากเข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯ ประมาณเกือบครึ่งชั่วโมง โดยให้สัมภาษณ์ว่าน้องเตเต้ได้ให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการชุดนี้อย่างครบถ้วน โดยระบุว่าวันเกิดเหตุไม่มีแพทย์มาทำการรักษาแม่ รวมทั้งคนขับแท็กซี่ทั้ง 2 คนที่นำตัว น.ส.ช่อลัดดา ไปโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งได้ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการส่งไปโรงพยาบาลบางมดไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายสถานพยาบาลเพราะใช้แท็กซี่ในการส่งผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ไม่มีแพทย์อยู่โรงพยาบาล ไม่มีเวชระเบียนส่งต่อ และไม่ใช้รถพยาบาลในการส่งต่อผู้ป่วย

มั่นใจว่าโรงพยาบาลมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 และเชื่อว่าจะมีผลสรุปจากคณะกรรมการออกมาอย่างแน่นอน

เปิดความผิดโทษแค่ไหน

สำหรับมาตรการทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กรณีสถานพยาบาลปฏิเสธผู้ป่วยและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย สบส.มีมาตรการทางกฎหมายที่จะต้องดําเนินการกับสถานพยาบาล

ตามมาตรา 36 สถานพยาบาลต้องควบคุมให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตราย จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามฐานวิชาชีพ เมื่อช่วยเหลือแล้วหากผู้ป่วยประสงค์จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น ต้องดำเนินการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลตามความเหมาะสม

ความผิดตามมาตรา 36 มีอัตราโทษตามมาตรา 66 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ประกอบกับมาตรา 34(4) ให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดําเนินการมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันในการควบคุมและดูแลการประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานการบริการที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด ตามมาตรา 15 ประกอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2545) เรื่อง มาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย โดยความผิดตามมาตรา 35 มีอัตราโทษตามมาตรา 65 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"อัจฉริยะ" นำพยานคดีหญิงถูกสามีสาดน้ำกรด ให้ข้อมูล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง