กนง.ไฟเขียวขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 %

เศรษฐกิจ
19 ธ.ค. 61
19:46
1,082
Logo Thai PBS
กนง.ไฟเขียวขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 %
กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 7 ปีร้อยละ 0.25 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.75 จากเดิม 1.5% ชี้อาจกระทบกับครัวเรือนที่ทำสัญญาเงินกู้แบบลอยตัว และกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์

วันนี้ (19 ธ.ค.2561) การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ขึ้นอีกร้อยละ 0.25 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ซึ่งอาจจะสะท้อนได้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น จนไม่ต้องการดอกเบี้ยต่ำๆ เพื่อกระตุ้นอีกต่อไปแล้ว 

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยนโยบายมีผลโดยตรงต่อธนาคาร จะได้เห็นผลกระทบว่า ธนาคารขึ้นดอกเบี้ยตามทันที ตอนนี้มีบางธนาคารที่ออกมาระบุว่า ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ประกาศของ กนง. จะมีผลทันที

ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ย้ำว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนถึง การปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะเป็นขาขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้หลักการพิจารณาข้อมูลแต่ละครั้งไป



ถ้าย้อนดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือกนง.ในรอบที่ผ่านมา ตั้งเเต่ต้นปี พบว่าเสียงเริ่มแตก 6 ต่อ 1 โดย 6 เสียงมองว่า ยังไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ต่อมาคะเเนนเสียงที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด อยู่ที่ 4 ต่อ 3

และวันนี้ ซึ่งเป็นการประชุม กนง.นัดวัดใจว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ปรากฎว่าคะเเนนเสียงอยู่ที่ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 หรือ เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 1.75 จากร้อยละ 1.5  โดยพิจารณาทั้งด้านเงินเฟ้อ เสถียรภาพการเงิน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 



กนง. มองว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าระดับปกติต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีความจำเป็นน้อยลง ถอยหลังกลับไปในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุด ร้อยละ 1.25 เป็นการลดลงในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2552 เศรษฐกิจไทยหดตัว ร้อยละ 0.9 ส่วนดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 เป็นช่วงเปลี่ยน แปลงทางการเมือง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยโตเพียง ร้อยละ 0.7 แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยเข้มเเข็งขึ้นมาก

หากเปรียบเทียบดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับต่างประเทศพบว่า ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับขึ้นครั้งล่าสุดแล้วก็ตาม เช่น อินโดนีเซีย อยู่ที่ ร้อยละ 6 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 4.75 มาเลเซีย ร้อยละ 3.25 และ สหรัฐฯ ร้อยละ 2-2.25

ชี้อาจกระทบเงินกู้ครัวเรือน-กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์

นายฑิตนันท์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพียงเล็กน้อย ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ยังถือว่าอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้จะมีการลดประมาณการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจลงมา

และยอมรับว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อาจกระทบครัวเรือนที่ทำสัญญาเงินกู้แบบลอยตัว ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ น่าจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเกิดภาวะเงินทุนไหลเข้าและค่าเงินแข็งค่า ซึ่งแบงก์ชาติจะติดตามสถานการณ์นี้

 


สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ประเมินว่าอาจทำให้มีเม็ดเงินลงทุนบางส่วน ไหลกลับเข้าไปในตลาดพันธบัตรไทย แต่ผลดีอีกทางหนึ่งคือ ช่วยชะลอปัญหาการก่อหนี้เกินตัว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเป็นห่วงว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบความมั่นคงในระบบการเงินได้ ขณะที่บรรดานักธุรกิจเอง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีก็ไม่สบายใจกับเรื่องนี้นัก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง