"สมาคมผู้ค้าปลีกไทย" ต้านผูกขาดสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว

เศรษฐกิจ
22 ก.พ. 62
12:15
1,180
Logo Thai PBS
"สมาคมผู้ค้าปลีกไทย" ต้านผูกขาดสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว
หลังที่ประชุมบอร์ด ทอท.เห็นชอบให้มีการแยก 3 สัญญาใหญ่ เพื่อประมูลหาผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ในพื้นที่สนามบิน สมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดเงื่อนไขสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิแบบรายเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาด

ภายหลังจากที่คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บอร์ด ทอท. เห็นชอบแนวทางการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยาน โดยให้แยก 3 สัญญาใหญ่ คือ การจำหน่ายสินค้าปลอดอากร กิจกรรมเชิงพาณิชย์ และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดเงื่อนไขสัมปทานดิวตี้ฟรี สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิแบบรายเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาด แต่ควรจะแยกเปิดประมูลตามหมวดสินค้า และมีผู้ประกอบการอย่างน้อย 3-4 ราย และควรกำหนดผลตอบแทนเข้ารัฐไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 จากปัจจุบันที่จ่ายเพียงร้อยละ 15-19 ซึ่งจะทำให้รัฐได้รับผลตอบแทนมากขึ้นประมาณ 50,000 ล้านบาท และควรลดระยะสัมปทานให้สั้นลงเหลือ 5-7 ปี

การทำธุรกิจดิวตี้ฟรี ห้างไม่ต้องสร้าง ลูกค้าไม่ต้องหา ประเทศหามาให้ทั้งหมด ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ค่าธรรมเนียมจึงไม่ควรถูก แต่จะสูงแค่ไหนต้องไปหาสมดุลกัน แต่ไม่ควรต่ำแบบในอดีต เพราะเหมือนเป็นการเอาผลประโยชน์ประเทศไปให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

หากเปรียบเทียบกับสนามบินอื่น อย่างสนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ มีจำนวนสัมปทานดิวตี้ฟรี 12 ราย ทั้งที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 1 ใน 3 ของไทย, สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น และสนามบินฮ่องกง มีจำนวนสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 ราย และสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนสัมปทานดิวตี้ฟรี 3 ราย

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

ส่วนกรณีที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ทีโออาร์ โดยรวมร้านปลอดอากรของสนามบินสุวรรณภูมิ เข้ากับสนามบินภูมิภาค 3 แห่งทั้งเชียงใหม่ หาดใหญ่และภูเก็ต ทางสมาคมก็ไม่เห็นด้วย เพราะสนามบินแต่ละแห่งมีลักษณะแตกต่างกัน

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุว่า สัมปทานดิวตี้ฟรีที่หลายประเทศนิยม คือการส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการหลายราย และเมื่อมีการแยกประเภทสัญญาตามหมวดหมู่ของสินค้า จะทำให้สนามบินมีรายได้และผลตอบแทนมากขึ้น จึงควรส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการหลายรายและแข่งขันอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

ส่วนกรณีที่บอร์ด ทอท. มีมติให้ยกเลิกผลการประกวดออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 นายดวงฤทธิ์ บุนนาค ในฐานะตัวแทนนิติบุคคล ซึ่งร่วมทำกับกลุ่มดวงฤทธิ์ ผู้ชนะการประกวดออกแบบ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันเป็นทางการ และรู้สึกสงสัย เพราะเป็นการยกเลิกในส่วนของแบบ แต่ยังเดินหน้าโครงการต่อ เบื้องต้นการยกเลิกทำให้เสียหายหลายล้านบาท พร้อมตั้งคำถามว่ามติของบอร์ด ทอท.มีความเหมาะสมและโปร่งใสหรือไม่ ส่วนจะดำเนินการฟ้องร้องกับบอร์ด ทอท.หรือไม่นั้น ในทางแพ่งไม่สามารถทำได้ เพราะทีโออาร์กำหนดไว้ว่า ทอท.สามารถยกเลิกแบบได้

 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

บอร์ด ทอท.ล้มประมูลแบบ "กลุ่มดวงฤทธิ์" เดินหน้าเทอร์มินอล 2

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง