วันนี้ ( 22 ก.พ.2562) ภายหลังการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และการลงทุนที่เกี่ยวข้อง วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า คณะอนุกรรมการคัดเลือกฯได้รายงานผลการเจรจาร่วมกับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CP) ให้รับทราบ
ที่ประชุมมีมติให้แจ้งกลุ่มซีพีว่าจะปฏิเสธไม่รับข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินซึ่งเป็นหัวใจหลักในการเจรจาครั้งนี้ประมาณ 12 ข้อ เนื่องจากขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรี และข้อเสนอร่วมการลงทุน (RFP) เพราะไม่ได้เปิดช่องให้มีการเจรจา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็น การขยายการก่อสร้างอีก 6 ปีจากเดิม 5 ปี การให้รัฐรับประกันผลตอบแทนของโครงการหากไม่ถึงร้อยละ 6.75 การขยายอายุสัมปทานจาก 5 ปี เป็น 99 ปี และการขอให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก
คณะกรรมการจะส่งหนังสือแจ้งให้กลุ่มซีพีรับทราบในวันนี้ และจะให้กลุ่มซีพีมาหารือกับทางคณะกรรมการฯ ในวันที่ 5 มี.ค.นี้ เวลา 14.00 น. แต่คณะกรรมการจะไม่นำประเด็นที่ปฏิเสธกลับมาพิจารณาอีก
สำหรับการเจรจาโดยมีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ หากซีพีรับตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯสรุปก็จะมีการเจรจาต่อในประเด็นข้อย่อยอื่น ๆ แต่หากซีพีไม่รับตามข้อสรุป หรือไม่มาในวันที่ 5 มี.ค.จะต้องยุติการเจรจากับกลุ่มซีพี
ทั้งนี้ ไม่ว่ากลุ่มซีพีประสงค์จะเจรจาหรือไม่เจรจาก็ขอให้มาหารือร่วมกันก่อนหรือหากกลุ่มซีพีไม่มา หรือยืนยันว่าจะต้องมีเงื่อนไขก็จะพิจารณาและตกลงร่วมกันว่าจะเดินหน้าต่อหรือจะหยุด นอกจากนี้หากกลุ่มซีพีมีความประสงค์จะเจรจาเพิ่ม จะต้องไม่ขัดกับ ครม.และ RFP
ส่วนกระบวนการตามขั้นตอนหากซีพีไม่รับข้อสรุปของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็จะมีการเรียกผู้เสนอราคาในลำดับถัดไป คือ กลุ่มบีทีเอสเข้ามาเปิดซองที่ 4 ข้อเสนอพิเศษเป็นรายถัดไป โดยยังตั้งเป้าว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาและเริ่มลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ คาดว่าหลังจากลงนามในสัญญาจะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างโครงการได้อีกประมาณ 6 เดือน
แท็กที่เกี่ยวข้อง: