ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง 2562: บทบาทไทย " รับไม้ต่อ" ประธานอาเซียน'62

เศรษฐกิจ
6 มี.ค. 62
17:59
556
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2562: บทบาทไทย " รับไม้ต่อ" ประธานอาเซียน'62
นักวิชาการ เสนอไทยต้องแสดงบทบาทในฐานะประธานอาเซียนปี 62 ให้ชัดเจน ปลุกพรรคการเมือง มองนโยบายต่างประเทศโจทย์ท้าทายประชาคมโลก จากทุนเศรษฐกิจที่ไหลบ่า แรงงาน การเมือง และสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (6 มี.ค.2562) จากการสัมมนา TRF-ASEAN Policy Forum เรื่องไทยกับการเป็นประธานอาเซียน จัดโดยไทยพีบีเอส ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า ประเด็นอาเซียนเป็นเรื่องสำคัญ โดยปีนี้ ไทยเป็นประธานอาเซียน แต่กลับถูกพูดถึงน้อยมากในเวทีการเมือง ดังนั้นไทยพีบีเอส และเครือข่าย จะรวบรวมประเด็นจากนักวิชาการ และประเด็นข้อท้าทาย ไปยังพรรคการเมืองต่างๆที่จะเข้าร่วมดีเบตในเวทีใหญ่ในวันที่ 15 มี.ค.นี้

ส่วนดร.สุกานดา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว.ระบุว่า ความคาดหวังในการรับหน้าที่ประธานอาเซียนของไทย ในปีนี้ถือว่ามีความสำคัญ และหลังการเลือกตั้ง ประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 ถูกมองจากต่างประเทศว่าเป็นเพียงตำแหน่งคั่นเวลา ระหว่าง สิงคโปร์ และเวียดนาม เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และเข้าสู่การเลือกตั้ง

 

นโยบายอาเซียนในฝัน

รศ.ดร.สุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง อดีตรองเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า นโยบายต่างประเทศไม่ได้ถูกหยิบนำไปหาเสียง เพราะเป็นเรื่องไกลตัวปากท้อง ของชาวบ้าน และเรายังเข้าใจผลกระทบจากต่างประเทศน้อยเกินไป ยกเว้นข่าวที่หวือหวา และเป็นมุมการรับรู้ ที่แค่บริบทพื้นฐาน แต่ไม่รู้กระทบแท้จริงที่จะเกิดขึ้น เช่น กรณีของผลกระทบจากการค้าเสรี และการสร้างกฎระเบียบ

อยากให้นักการเมืองเข้าใจ เพราะผมไม่แน่ใจว่านักการเมืองเข้าใจผลประโยชน์จากเรื่องต่างประเทศ ยกเว้นแค่จับมือถ่ายรูปความร่วมมือ จับมือกับนักการเมือง และเป็นปัญหาของอาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว เศรษฐกิจเติบโต 8% ถ้าไทยยังปล่อยให้เป็นแบบนี้จะเกิดปัญหา


หากจะไปลงทุนกลับถูกมองว่าขายชาติ นักการเมืองขายชาติอยู่แล้ว เพราะต้องไปขายประ เทศไทยในต่างประเทศให้ได้ และปัญหานักการเมืองต้องแสดงวุฒิภาวะ เพราะโลกหมุนเข้า หาไทย ทุกอย่างมีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

 

ด้านนายอภิชัย สัณห์จินดา อดีตผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า อยากให้เน้นเรียนรู้เพื่อนบ้าน ไม่ใช่มองไทยเป็นศูนย์กลาง แค่ประธานอาเซียน ตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ประกาศเปลี่ยนสมรภูมิรบ เป็นตลาดการค้า ทำให้มีการพัฒนาเกิดขึ้น

ในไทยมีคนต่างชาติ ทั้งเมียนมาร์ กัมพูชา และเขามาอยู่ในไทยมาเรียนรู้ แต่ปัญหาเราเรียนรู้ประเทศเขาหรือไม่ เจอคนหนุ่มสาวเรียนภาษาไทย เพราะต้องการไต่ขึ้นมา แต่เรากลับเฉยๆเพราะคิดว่าไทยเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว

ลาวเป็นแลนด์ลิงก์แล้ว ทางเลือกเราจะแคบลงถ้ายังไม่สนใจ ยังไม่ไต่ระดับ และเรียนรู้ แต่ไม่ใช่ไปสู้กับเขา แต่เป็นการสู้ทางวิชาการ สมอง และภาษาเป็นสิ่งสำคัญ

ส่วน รศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ประสานงานชุดโครงการจับตาอาเซียน สกว. กล่าวว่า อยากให้พรรคการเมืองหรือสังคม คิดเป็นระบบว่าจะเชื่อมโยงเพื่อนบ้านอย่างไร เช่น บ้านเราพูดไทยแลนด์ 4.0 โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเขาต้องการสร้างเทคโนโลยี และมีแรงงานเข้ามา แต่เหมือนกับอยู่แค่ในไทยเท่านั้น เราไม่สามารถเชื่อมโยงกับงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี 

นอกจากนี้ เรื่องความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ที่ยังเป็นจีน สหรัฐอเมริกา บทบาทไทยวางตัวอย่างไรที่ชาติมหาอำนาจเข้าหาอาเซียนมากขึ้น ต้องมีนโยบายชัดเจน และบทบาทประธานอาเซียน ต้องถกเถียงอภิปราย ไม่ใช่เรื่องการเมืองภายในอย่างเดียว

ยังไม่เคยนโยบายอาเซียน และด้านต่างประเทศจากพรรคการเมือง อยากให้มองบทบาทไทยกับการเป็นประธานอาเซียน ไม่เพียงกำหนดบทบาททางการทูต และการเมืองระหว่างประเทศ สำคัญที่สุดต้องมีนโยบายพัฒนาศักยภาพคน เตรียมคนให้พร้อมกับการเข้าสู่เวทีนานาชาติ

 

ปักธงเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไร

รศ.ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยทำได้แค่ 15% และไม่ควรแค่การค้าซื้อมาแล้วขายไป แต่ควรต้องเน้นการลงทุน ตลาดของไทยยังไม่ขวนขวาย เป็นเรื่องที่เราเจอ ปัญหาเยอะมากในทุกด่านชายแดน ทำไมเราไม่มีระบบที่มั่นคง และสร้างความมั่นใจกับนักลงทุน

นักการเมืองท้องถิ่นสนใจแค่ปัญหาเฉพาะจุด และทำให้เสียเปรียบ เพราะคนข้างนอก ทิศทางนโยบายเรามองแค่ตัวเอง

 

ผลกระทบจาก วันเบลต์ วันโรด


นอกจากนี้ รศ.ดร.สุทัศน์ ยังกล่าวถึงโครงการ โครงการเส้นทางสายเศรษฐกิจ หรือ“วันเบลต์ วันโรด ของจีน ทำให้ต้องเชื่อมต่อกับประเทศอื่นในอาเซียน โดยมองว่า เรากำลังกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ ช่วง 2,500 ปีก่อนสมัยนั้นไม่มีพรมแดน โครงการนี้ทำให้ประชากร 2 กลุ่ม คือ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ที่มีประชากร 1,600 ล้านคนที่เขาจะต้องซื้อขายกัน เพราะที่อื่นในโลกตลาดปิด และไม่โต ทำไมจีนถึงลงทุน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ไทยค้าขายกับลาว


โอกาสในการเติบโตมีอยู่แล้ว แต่ปัญหาเราจะรับมืออย่างไร เพราะทรัพยากรสำคัญที่สุดของไทยคือทำเลที่ตั้ง และทรัพยากรนำมาทั้งประโยชน์ และปัญหาทั้งการเมืองที่ไทยเป็นกันชนของสงครามเย็น ไทยเป็นเมืองหน้าด่าน เป็นสะพานที่ไม่ยอมให้เขาข้าม 

ขณะที่ รศ.ดร.กิตติ มองถึงความมั่นคงความปลอดภัยจากโครงการนี้ว่า ไทยต้องรับมือบทบาทการต่อรอง โดยมองว่าการคุกคามด้านความมั่นคงมี 2 ด้าน คือความมั่นคงเดิมในทะเลจีนใต้ซึ่งตอนนี้ไม่มีปัญหา  แต่เป็นความมั่นคงใหม่เรื่องการหลั่งไหล การอพยพของคน เช่น โรฮิงญา แรงงานข้ามชาติ อาชญากรรมข้ามชาติ 

ประเด็นคนจีนมีเรื่องน่าสนใจ เช่น นิวส์ไชน่าทาวน์ รัชดา คนจีนมาเป็นนอมินีซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะทำให้ความสัมพันธไทยจีนมีปัญหาระยะยาว ไทยไม่ควรละเลย เพราะโอกาสจะมาพร้อมกับปัญหา


ไทยต้องผลักดันอะไรในฐานะประธานอาเซียน

รศ.ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า ไทยต้องกำหนดบทบาท และกรอบเจรจราทางด้านเศรษฐกิจ และการเจรจาต่อรองให้ชัดในสัญญาต่างๆ เช่น กรอบข้อตกลงเวทีเจรจาภายใต้กรอบกรอบความร่วมมือ เอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ไทยต้องปักธงให้ลงนามความร่วมมือภายในในปีนี้ ก่อนหมดวาระประธานอาเซียน

ส่วนนายอภิชัย กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องผลักดันเพิ่มทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม จะต้องให้เกิดความยั่งยืน มี 2-3 เรื่อง เช่น ปัญหาหมอกควัน ปัญหาขยะทะเลที่กลายเป็นปัญหาข้ามพรมแดน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาหมอกควันข้ามแดน แม้ว่าจะมีแผนของสิ่งแวดล้อมอาเซียน ระบุว่าปี 2025 และทุกเซคเตอร์ต้องทำตามแผน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่คลอดเลย 

ในฐานะประธานอาเซียนต้องชักจูงให้สมาชิกทั้ง 9 ประเทศมาร่วมมือกันผลักดันเรื่องปัญหาหมอกควันผ่านมาตั้งแต่ปี 2540 มีระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมมาคุยกัน แต่ประเทศยังไม่ออกแผนปฏิบัติ ทั้งนี้มีไม่เกี่ยวกับการตกลงเรื่องเนื้อหา แต่มีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ 

นอกจากนี้ยังมองเรื่องการปัญหาโรฮิงญา ประเด็นคือเมียนมาร์ ไม่ยอมให้มีบทบาท แต่ข่าวดีว่าหลังที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อ 2 เดือนก่อนจะให้ศูนย์ภัยพิบัติลี้ภัยในกรุงจาการ์ อินโดนีเซีย ให้เข้าไปตั้งศูนย์ในเมียนมาร์แล้ว 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง