วันพรุ่งนี้ ( 7 มี.ค.62) ศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมพิจารณา-ปรึกษาหารือ พร้อมแถลงด้วยวาจาและการลงมติ คำร้องของ กกต. กรณีขอให้สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ด้วยเหตุเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค อาจเข้าข่ายกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง โดยนัดฟังคำวินิจฉัยกลาง เวลา 15.00 น.
หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติยกคำร้องด้วยข้อวินิจฉัยที่เป็นไปตามคำชี้แจงของพรรคไทยรักษาชาติโดยเฉพาะ 2 ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การกระทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ 2.เป็นไปตามคำยินยอมและความประสงค์จึงไม่ใช่การเป็นปฏิปักษ์ ก็ถือว่าสิ้นกระบวนความ แต่ผลในทางปฏิบัติยังสืบเนื่องถึงผลทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง เพราะ "ไทยรักษาชาติ" ยังคงอยู่ โดยเฉพาะผู้สมัคร ส.ส.เขต 174 เขต และบัญชีรายชื่ออีก 108 คน ผลพวงย่อมสะเทือนถึงฝ่ายตรงข้าม แม้จะเป็นพรรคการเมืองใหม่ แต่ปรากฎการณ์ "8 ก.พ." ก็ไม่ใช่เหตุให้เกิดคะแนนลบเท่านั้น คะแนนบวกก็ถือว่าไม่น้อยเช่นกัน
เว้นแต่ชี้ขาดว่า ต้องเป็นไปตามคำร้องของ กกต. "เป็นปฏิปักษ์" สั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 14 คน แม้กรอบของโทษตามกฎหมายพรรคการเมืองจะกำหนดไว้เท่านี้ แต่ผลพวงของคำสั่งย่อมทำให้ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ขาด"คุณสมบัติ" เมื่อไร้สังกัด
แต่ก็มีข้อสังเกตว่า มาตรา 71 ของกฎหมายวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสาระสำคัญ คือศาลรัฐธรรมนูญ เห็นควรมีคำสั่ง หรือมาตรการคุ้มครองชั่วคราวได้ สอดรับกับคำร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ในสำนวนด้วยโดยเฉพาะกรณีของนายรุ่งเรือง พิริยะ หนึ่งในกรรมการบริหารพรรค ที่อ้างอิงว่า "ไม่รู้ - ไม่เห็น" ด้วย
ประกอบกับคำร้องของสมาชิกพรรคที่ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า มีหลายคำร้องที่ยื่นต่อศาลไว้ ซึ่ง รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็เชื่อว่า กรณีของนายรุ่งเรือง จะเป็นหนึ่งในข้อวินิจฉัยด้วย แต่ยอมรับว่า ยากที่ศาลรัฐธรรมนูญจะออกคำสั่งคุ้มครอง แต่ทั้งหมดก็ถือเป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น หากคำวินิจฉัยจของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ออกมาว่า ต้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็จะไม่มีพรรคนี้ ในสนามเลือกตั้ง ถือว่าจำนวนผู้สมัครที่หายไป คะแนนก็หายตามไปด้วยเช่นกันสำหรับซีกที่เรียกตัวเองว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" และฝ่ายตรงข้ามก็จะได้ประโยชน์ในทางการเมือง