ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2562 : รัฐสวัสดิการ นโยบายขายฝัน?

การเมือง
6 มี.ค. 62
20:21
763
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2562 : รัฐสวัสดิการ นโยบายขายฝัน?
วันที่ 8 กับเวที 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย พูดคุยกับตัวแทน 5 พรรคการเมืองในหัวข้อ "รัฐสวัสดิการ" ฟังวิสัยทัศน์แต่ละพรรคการเมืองวางนโยบายอย่างไร ให้รัฐสวัสดิการ ไม่ใช่เครื่องมือประชานิยม

วันนี้ (6 มี.ค.2562) วันที่ 8 ไทยพีบีเอส จัดรายการ 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย พูดคุยกับตัวแทนพรรคการเมือง 5 พรรคเกี่ยวกับทิศทางในการวางนโยบายอย่างไร ให้รัฐสวัสดิการ ไม่ใช่เครื่องมือประชานิยม

 

 

ทำอย่างไรให้นโยบายรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่แค่การขายฝัน

 

น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง พรรคสามัญชน ระบุว่า เปลี่ยนรัฐเผด็จการเป็นรัฐสวัสดิการ ขณะที่ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ระบุว่า ให้ความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนทางนายพาลินี งามพริ้ง พรรคมหาชน ระบุว่า ทุกคนต้องมีความฝัน และพรรคต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อเดินไปสู่ฝัน ด้านนายอุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ต้องให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับทุกคน ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คนยากไร้ต้องการโอกาส ประเทศไทยต้องให้โอกาส ให้รัฐสวัสดิการที่ดีเพื่อคนทุกคน ทุกเชื้อชาติ ศาสนา พลิกชีวิตที่ดีได้

 

แต่ละพรรคมีนโยบายรัฐสวัสดิการอย่างไร

 

 

นายพาลินี งามพริ้ง พรรคมหาชน กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำไม่เพียงพอ แต่ต้องทำให้สังคมไปสู่การเท่าเทียม โดยเน้นการเติมเต็มต้นทุนมนุษย์ เติมจนกว่าจะเต็ม ไม่เต็มไม่หยุดเติม เป็นรัฐสวัสดิการที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่การแจกเงิน

 

เสริมศักยภาพ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด และเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ และดูแลในวัยเกษียณ นอกจากนี้ ต้องดูแลกลุ่มคนหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และความหลากหลายทางเพศ

 

น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ พรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่า นโยบายได้จากการพบปะประชาชน ทุกคนที่เป็นมนุษย์ต้องมีความเท่าเทียมและไม่มีความเหลื่อมล้ำ โดยส่งเสริมคนที่มีศักยภาพ แรงงาน รัฐบาลต้องฝึกอาชีพให้เขามีรายได้เพิ่ม และต้องลดภาระการใช้จ่าย ครอบคลุมการเรียนฟรีถึงอาชีวะศึกษา เพราะการจบอาชีวะศึกษา จะช่วยให้เด็กมีรายได้เร็วมากขึ้น

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า แก้จนโดยใช้เบี้ยยังชีพคนชราและคนพิการเพิ่มเป็น 1000 บาท คนยากไร้ 800 บาท ประกันรายได้ของเกษตรกร ข้าวต้องมีประกันราคาข้าว 10,000 บาท โอนตรงเข้าบัญชีชาวนา แรงงานประกันที่ 120,000 บาทต่อปี หากรายได้ไม่ถึงรัฐให้ส่วนต่างโอนเข้าบัญชีทันที ขยายเรียนฟรีถึง ปวส. และให้อาหารกลางวันฟรีตั้งแต่เช้า-เที่ยง นโยบายเกิดปั๊บรับแสนดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิด - 8 ขวบ 1,000 บาท

น.ส.ชุมาพร กล่าวว่า หัวใจของรัฐสวัสดิการ คือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยจะลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อทำให้เด็กที่เกิดมาตั้งแต่ครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน มีความเท่าเทียม ซึ่งสวัสดิการดูแลทั้งหมดอยู่ที่ 3,000 บาท วัยเรียนสนับสนุนอีก 3,000 บาท ต่อคนต่อหัว และในวัยทำงานหากไม่สามารถทำงานได้ด้วยอุบัติเหตุก็จะสนับสนุน และเปลี่ยนเบี้ยบำนาญเป็นเงิน 3,000 บาท รายเดือน

นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า ดูแลตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา ดูแลโภชนาการที่ดี ส่วนเด็กตั้งแต่แรกเกิด – 6 ขวบ ต้องได้รับการดูแลที่ดี ต้องมีการส่งเสริมศูนย์พัฒนาชุมชน และวัยเรียนต้องได้เรียนทุกคน สนับสนุนอาชีวศึกษา สร้างชาติ พัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนผู้สูงวัยจะจัดหางานให้ และมีแนวคิดขยายการเกษียณอายุราชการเป็น 65 ปี ผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงจะสามารถเข้าถึงสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างของทุกคน

 

แผนในการหางบประมาณในการทำให้เป็นรัฐสวัสดิการ

 

 

น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง พรรคสามัญชน กล่าวว่า ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี โดยใช้เงิน 1.44 ล้านล้านบาท โดยลดหย่อนภาษี BOI และภาษีจากการขายหุ้นที่ปัจจุบันไม่มีการเก็บภาษีเลย ลดการลดหย่อนในคนชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ภาษีมรดกและภาษีอัตราก้าวหน้าต้องปรับเพิ่มขึ้น งบกลาโหมควรลดลง 70% จากงบประมาณประจำปี และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มรวมกันแล้วจะมีงบประมาณที่เพียงพอ

 

แต่หัวใจที่สำคัญ คือ ต้องดูว่าความมั่งคั่งของประเทศ 1% อยู่ที่ไหน ภาษีเหล่านี้เป็นภาษีของคนรวย ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย จึงมั่นใจว่าจะไม่เสียคะแนนเสียงแน่นอน เพราะคนส่วนน้อยเหล่านี้มีเงินมหาศาล

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า การจัดทำนโบายของพรรคประชาธิปัตย์ ใช้งบฯ 3.9 แสนล้านบาท โดยใช้เงินส่วนต่างจาก 20% ของงบประมาณรายจ่าย และ 80% ของงบประมาณเงินต้น ควรเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้นในส่วนทุน หรือเรื่องหุ้น นอกจากนี้ต้องเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม เนื่องจากโครงสร้างภาษีที่ดินปัจจุบันโบราณ ไม่มีกลไกเรื่องสิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิต จึงควรปรับโครงสร้างใหม่ คาร์บอนเครดิต จึงควรปรับโครงสร้างใหม่ และควรเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ Facebook หรือ google ทุกวันนี้ต้องพูดเรื่องจริง เก็บภาษีจากคนรวย ไม่ใช่เก็บภาษีจากเงินเดือน และทุกคนในขณะนี้อยู่ในรัฐสวัสดิการ ต้องรู้ว่าเขารวยจากอะไร จากหุ้นหรือจากที่ดิน

นายพาลินี กล่าวว่า นอกจากการวางแผนปีต่อปีต้องวางแผนระยะยาว พรรคมหาชนต้องการจัดตั้งกองทุนโดยรัฐบาลให้ทุนมาส่วนหนึ่ง และให้ประชาชนนำเงินมาฝาก เพื่อให้มีกำไรหากขาดทุนก็ให้รัฐบาลสนับสนุนเพิ่ม เก็บภาษี VAT เพิ่ม และนำเงินเหล่านี้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น โดยอาจเพิ่มขึ้นอีก 2% และให้อำนาจท้องถิ่นมีอำนาจในส่วนนี้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคนในท้องถิ่น

น.ส.อนุสรี กล่าวว่า พรรคเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงมองว่างบประมาณที่มีอยู่เพียงพอแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่ดี ขณะเดียวกัน ต้องมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มโดยเฉพาะภาษีที่ดินของคนรวย และให้เขามีส่วนร่วมในการดูแลคนจน โดยนำที่ดินไปช่วยคนจน เพื่อลดภาษี

นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า สวัสดิการที่เหมาะสมไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย แต่การหางบประมาณต้องดูว่ามีรายได้จากที่ใดบ้าง ซึ่งสวัสดิการเชื่อมโยงกับการศึกษา จึงควรส่งเสริมศักยภาพอย่างอาชีวะ สร้างชาติ เพื่อเพิ่มรายได้ ควรศึกษาเก็บภาษีในตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุน นอกจากนี้ ต้องใส่ใจเงินออมของประเทศด้วย และต้องเพิ่มศักยภาพของผู้หญิงให้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ควรลดหรือกำจัดคอร์รัปชัน โดยจะช่วยให้มีเงินเหลือ 1 - 200,000 ล้านบาท

 

แนวคิดเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างไร

 

 

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะตั้งโจทย์ว่าต้องมีบัตร จริงๆ รถเมล์ต้องแตะบัตร ค่าพัฒนาบัตรหลายล้านบาท ซึ่งไม่มีอะไรใช้ได้เลย โจทย์ไม่ตรงเป้า การซื้อขายในร้านธงฟ้า ควรปรับเป็นโอนตรงเข้าบัญชี 800 บาท ให้ประชาชน เพื่อให้สามารถเลือกซื้อสินค้าจากที่ใดก็ได้ ให้รอบเศรษฐกิจหมุน และทำให้ GDP โต ซึ่งตรงเป้ากว่า ต้องสร้างแบบฟอร์มภาษี 90 ,91 ให้ชัดเจนขึ้น

 

เช่น แม่เลี้ยงเดี่ยว ยื่นภาษีไปอาจไม่ต้องเสียภาษีแต่ได้เงินคืนกลับมา 800 บาท ต้องมีการทำให้ข้อมูลทันสมัยมากขึ้น ดังนั้น ต้องมีการเปิดลงทะเบียนใหม่ และเปิดยื่นภาษี ตรวจสอบข้อมูลได้

น.ส.ชุมาพร กล่าวว่า น่าเสียดายที่ คสช.เร่งออกกฎหมาย แต่จริงๆ หลักการสำคัญ คือต้องยกเลิกกฎหมาย แต่ไม่ยกเลิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในรัฐธรรมนูญ ต้องมีคำว่า รัฐสวัสดิการ และลบคำว่า ผู้ยากไร้ออก นอกจากนี้ ต้องดูที่ระบบ DATA โดยใช้เส้นความยากจน คือเงินที่น้อยที่สุดที่คุณจะมีชีวิตอยู่ได้ สวัสดิการของรัฐต้องครอบคลุมทุกคน ไม่ใช่แค่คนจน มันเป็นการกดทับว่าใครเป็นคนจน แต่จริงๆ แล้วทุกคนต้องเท่าเทียมกัน เปลี่ยนจากสวัสดิการสำหรับคนจนเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะคุณไม่รู้ว่าวันไหนจะกลายเป็นคนไร้บ้าน จะกลายเป็นคนพิการ หรือกลายเป็นคนตกงาน รัฐต้องมีการสนับสนุนทุกคนอย่างเท่าเทียมและมากพอ เช่น คนพิการ รัฐต้องสนับสนุนให้เขามีขาที่ 2 ที่ 3 หรือแม้กระทั่งต้องจ้างคน คนหนึ่งเพื่อดูแลคนพิการ รัฐก็ต้องทำ

นายพาลินี กล่าวว่า รัฐสวัสดิการ ต้องสร้างเบ็ดตกปลาให้ประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ปัจจุบัน เรียกว่ารัฐสวัสดิการได้ยากมาก แต่ควรเรียกว่าประชานิยมมากกว่า พรรคมหาชนต้องเติมเต็มต้นทุนมนุษย์ โดยการรับการศึกษาต้องมีศูนย์ดูแลความสามารถพิเศษของเด็ก จากวิจัยพบว่า เด็กไทยจะเติบโตมาอย่างมีศักยภาพเพียงแค่ 60% ของประเทศ เป็นอันดับ 4 ในอาเซียน ควรดูที่ความสามารถพิเศษของเด็กอย่างแท้จริง เพื่อให้เขามีอาชีพที่ดีและทำงานได้อย่างมีศักยภาพ ไม่ใช่เฉพาะการจ้างงานในบริษัทเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ต้องมีหน่วยงานต่างๆ เข้าไปดูช้างเผือกในสถานศึกษา ควรให้เยาวชนสามารถดูแลตัวเองได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี และเพิ่มตัวเลขการมีศักยภาพของเด็กเป็น 80% และยกเลิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และใช้บัตรประชาชนเป็นหลัก ไม่เฉพาะเจาะจงกับร้านหรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน

นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า เราลงทะเบียนว่าเป็นคนจน ถ้าประเทศมีรายได้ดี คนจนต้องลดลง ดังนั้น เรื่องสวัสดิการเชื่อมโยงทุกมิติ ไม่ใช่เพียงเศรษฐกิจอย่างเดียว ดังนั้น ต้องเพิ่มโอกาสให้คนเข้าถึงได้ทุกส่วน อาชีวศึกษา สร้างชาติ เพื่อให้คนมีรายได้มากขึ้น ส่วนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หากมีความจำเป็นควรให้มีไว้ก่อน แต่ต้องมีการเปลี่ยนผ่านโดยคนจนจะลดน้อยลงไปตามศักยภาพของคนที่เพิ่มขึ้น คนที่มาลงทะเบียนไม่ควรเท่าเดิม และสามารถปรับ ยืดหยุ่นได้ และสร้างโอกาสในทุกๆ ด้านให้ประชาชน

น.ส.อนุสรี กล่าวว่า ควรต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น ข้อมูลของคนจนและรัฐบาลได้ช่วยเหลือสิ่งใดไปแล้วบ้าง เช่น ประชาชนคนนี้ฝึกอาชีพหรือยัง มีรายได้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เช่น ผู้สูงอายุที่มีแรงและพละกำลังอาจต้องขยายให้เกษียณอายุ 70 ปี หรือให้หน่วยงานช่วยหางานส่งเสริมให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น ผู้พิการที่สามารถทำงานและสร้างอาชีพได้ รัฐควรสนับสนุนให้เขามีอาชีพเพื่อสร้างรายได้ดูแลตัวเองและหลุดพ้นสภาพคนจนไปให้ได้

 

มียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาคนไร้บ้านในระยะยาวอย่างไร

 

น.ส.ชุมาพร กล่าวว่า เน้นนโยบายที่อยู่อาศัย ลดดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยเหลือเพียง 2% ทำให้คนที่ต้องสูญเสียบ้านและที่ดินกลับมามีบ้านและที่ดินได้ และต้องเกิดธนาคารบ้านและที่ดิน ทุกจังหวัดต้องมีศูนย์ฟื้นฟูคนไร้บ้าน เพื่อให้ทุกคนกลับมาอยู่ในสังคมได้ และรัฐต้องส่งเสริมที่อยู่อาศัยราคาถูก และต้องใกล้กับตัวเมือง เพื่อให้ทำมาหากินได้ ค่าน้ำ-ค่าไฟต้องมีการสนับสนุน การส่งเสริมอาชีพและการศึกษา 100% คือเงินทั้งหมดต้องเข้าถึงเด็กทั้งหมด และเด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาทุกคน ทุกช่วงวัย และเข้ารับการศึกษาได้ โดยการนำบัตรประชาชนกลับมาให้ทุกคน

นายพาลินี กล่าวว่า นโยบายการถือครองที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติ ตอบโจทย์เรื่องของคนไร้บ้าน เพราะหากคนมีต้นทุน คือที่ดินทำกินก็ต้องมีบ้าน แต่ที่ดินกำลังอยู่ในมือของคนส่วนน้อยเท่านั้น จึงควรเอาที่ดินของรัฐกลับมาให้ประชาชนได้กลับมาถือครอง

 

นโยบายใดจะช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงคนชายขอบเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ได้ ?

 

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ต้องปรับทัศนคติของกระทรวงมหาดไทยให้เป็นเชิงรุก เปลี่ยนเลข 0 เป็นเลข 13 หลัก เหมือนคนไทย โจทย์หลัก คือต้องเป็นบัตรประชาชนคนไทย ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ขาดคนมีความรู้ ขาดแรงงาน เมื่อได้บัตรประชาชน ก็สามารถรักษาฟรีได้ ที่ทำกินมีนโยบายโฉนดสีฟ้า ส.ป.ก.ใช้เป็นหลักประกันชั้นศาลได้ หากถูกยึดให้ธนาคารที่ดินไปซื้อกลับ และไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติ และจัดสรรโฉนดชุมชนให้ประชาชน

น.ส.อนุสรี กล่าวว่า เขาจะมีสิทธิได้ เขาต้องมีบัตรประชาชน แต่กระบวนการพิสูจน์สัญชาตินั้นมีความซับซ้อน ดังนั้น ควรมีความเข้มงวดในกระบวนการนี้ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้ โดยเริ่มต้นจากการมีบัตรประชาชน

นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเขาอยู่มานาน การพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ยาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องดำเนินการเชิงรุก แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการปรับทัศนคติ ให้มองเขาเป็นเรา ไม่ใช่มองเขาเป็นคนอื่น

 

นโยบายรัฐสวัสดิการจะรองรับคนตกงานอย่างไร และมีการกำหนดสวัสดิการของแรงงานทุกคนในประเทศอย่างไร?

 

 

นายอุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า แรงงานในระบบอยู่ในสวัสดิการอยู่แล้ว ตามหลักประกันสังคม แต่แรงงานนอกระบบเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องพัฒนา เรื่องแรงงานต้องดูคนสร้างประชากรด้วย ปัจจุบันผู้สูงอายุเรามีเบี้ยยังชีพ แต่คนเกิดใหม่ลดลง รัฐต้องปรับโครงสร้างประชาชนไม่เช่นนั้นจะขาดแคลนแรงงานและรายได้ลดลง

 

นอกจากนี้ ต้องมีกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อรองรับแรงงานนอกระบบ รัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์ให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงให้ได้มากขึ้น

 

นายพาลินี กล่าวว่า ส่งเสริมเศรษฐกิจออนไลน์ เปิดกว้างให้คนเข้าถึงการค้าขายออนไลน์ สำหรับคนที่ตกงาน เป็นการเปิดโอกาสให้มีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เพราะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ต้องใช้กลไกเศรษฐกิจแก้ปัญหา ขยายโอกาสการค้าขายตั้งแต่ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน โดยรัฐต้องลงพื้นที่ให้ความรู้ ให้ประชาชนค้าขายสู่ต่างประเทศได้โดยตรง ยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำแต่ต้องสร้างค่าแรงที่เป็นธรรม คือค่าแรงเริ่มต้นรวมกับค่าแรงทักษะที่เพิ่มขึ้น รวมอัตราเงินเฟ้อ ควรปลดล็อก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี ซึ่งเป็นเครื่องมือการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด และตีตราคนทำงานนี้เป็นอาชญากร

น.ส.อนุสรี กล่าวว่า ปัญหาการตกงาน ต้องมีเงินสงเคราะห์ให้ 12 เดือน จนกว่าจะหางานได้ หรือหาแหล่งเงินกู้เพื่อให้เป็นเจ้าของธุรกิจเอง ต้องการเพิ่มเงินบำนาญให้ได้เท่าอัตราข้าราชการที่ได้รับ และควรมีกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบทุกคน เพื่อให้เขาออมและสามารถนำเงินมาใช้ในอนาคตได้

น.ส.ชุมาพร กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติหรือกลุ่มชาติพันธุ์พบปัญหาไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ได้ สิ่งนี้ต้องยกเลิก จัดทำทำประมวลกฎหมายแรงงาน เพราะแรงงานต่อสู้ทางกฎหมายได้ยากลำบากมาก และควรยอมรับการจัดตั้งสหภาพแรงงานทั้งในและนอกระบบ เพื่อให้เกิดความคุ้มครองที่เป็นธรรม และเพดานการจ้างงานต้องเพิ่มอีก 30% ไม่ใช่ 15,000 บาท แต่ต้องเป็น 30,000 บาท

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า อยากให้ค่าแรงต่อปีอยู่ที่ 120,000 บาท หากไม่ถึงรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่าง สำหรับสวัสดิการของแรงงานนอกระบบ ต้องสนับสนุนกองทุนการออมแห่งชาติ แรงงานในระบบ ประกันสังคมไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องบำนาญ จึงต้องมีการแก้ไขปัญหา

 

ทำอย่างไรกับกองทุนสวัสดิการ ?

 

 

น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ พรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่า ควรแยกกองทุน ดูแลกันเอง แต่คนไทยทุกคนต้องได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม และพัฒนาการให้บริการ เสริมแพทย์ประจำ และให้แพทย์เวชศาสตร์ดูแลได้อย่างทั่วถึง ใช้กองทุนสุขภาพประจำตำบล

 

สปสช.ต้องเข้ามารับผิดชอบในการรักษาที่เท่าเทียมกัน และต้องจัดสรรเงินให้ประชาชนได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน

นายพาลินี กล่าวว่า ควรให้สิทธิในกองทุนสวัสดิการทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นข้าราชการหรือประชาชน

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ควรแยกกองทุนใครกองทุนมัน เพราะการบริหารจัดการเงินก้อนใหญ่นั้นยากมาก แต่ต้องมีการสนับสนุนฉุกเฉินรักษาฟรีทุกโรงพยาบาล ปรับเกณฑ์ 6 ข้อ ฉุกเฉินรักษาฟรีทุกโรงพยาบาลให้หลวมลงมา ทำให้เป้าหมายชัดเจน ส่วนสิทธิใครอยู่ตรงไหนไปตรงนั้น ควรเพิ่มอัตราพยาบาล บรรจุอยู่ที่ 12,000 อัตรา เพราะเป็นอัตราที่ขาดแคลน บางคนเป็นลูกจ้างชั่วคราวจนกลายเป็นชั่วโคตรไปแล้ว

นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า เชื่อมโยง 3 กองทุนมีฐานข้อมูลเดียวกัน แต่สามารถแยกกองทุนได้ แต่ต้องมีการแยกคนที่ต้องการรักษาพยาบาลจริง หรือคนที่ต้องการเพียงรักษาเบื้องต้น อสม.สามารถช่วยดูแลประชาชนได้ และให้ตรวจสุขภาพฟรีปีละครั้ง โดยเพิ่มเงินค่าตอบแทนเป็น 1,500 บาท สำหรับ อสม. เพื่อให้การไปหาหมอที่โรงพยาบาลลดลง

น.ส.ชุมาพร กล่าวว่า ควรรวมกองทุน และมีตัวเลข 8,500 บาทต่อหัว ฝั่งวิชาการ TDRI สามารถทำได้ ดังนั้น พรรคการเมืองมีหน้าที่บริหารจัดการ แต่ต้องทำเพื่อยืนยันว่าทุกคนจะได้รับการบริการในมาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญการรักษาของคนที่เป็นเพศเดียวกัน ไม่สามารถเซ็นแทนกันได้ และคนข้ามเพศที่ต้องการผ่าตัดไม่สามารถใช้กองทุนได้

นายพาลินี กล่าวว่า กลุ่มคนชาติพันธุ์ คนข้ามเพศการเข้าถึงสวัสดิการไม่เพียงพอที่จะมีชีวิตที่มีคุณภาพ เพราะถูกกีดกันจากการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านอื่นๆ เพราะฉะนั้นการผลักดันในส่วนนี้จึงเป็นสิ่งที่พรรคมหาชนต้องการจะผลักดันอย่างต่อเนื่อง

 

ใช้อะไรตัดสินว่าใครจน ?

 

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า บัตรคนจน เปลี่ยนเป็นเบี้ยผู้ยากไร้โดยลงทะเบียนผ่านแบบฟอร์มยื่นภาษีโดยง่ายโดยกรอกข้อมูลทุกคน เพราะบางคนที่ภาษีไม่ถึงแต่หากมีการกรอกข้อมูล ก็จะได้เงินช่วยเหลือในอนาคตเมื่อมีรายได้เพิ่มสิทธิก็จะเด้งออกเองโดยอัตโนมัติ บัตรคนพิการ มีอายุ 8 ปี แต่คนหายจากความพิการได้หรือไม่ แล้วบัตรประชาชนไม่บอกหรือว่าคนไม่พิการ หรือพิการ และเมื่อจะต่ออายุต้องมีใบรับรองแพทย์ไปด้วย แค่นี้ก็ป่วยแล้ว

นายพาลินี กล่าวว่า ชิพในบัตรประชาชนต้องอัพเดต เพื่อให้ประชาชนสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น

น.ส.อนุสรี กล่าวว่า ชิพในบัตรประชาชนต้องมีข้อมูล อาชีพ รายได้ ของประชาชน เพื่อบอกได้เลยว่าเขาเป็นผู้มีรายได้เท่าไหร่ และทำสำมะโนประชากรขึ้นมาใหม่

น.ส.ชุมาพร ระบุว่า กลุ่มคนแต่กลุ่มต้องมีสวัสดิการเฉพาะ ควรทำให้ช่องว่างของคนจนกับคนรวยเท่าเทียมกัน จะทำให้บัตรคนจนไม่สำคัญอีกต่อไป

นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า ทำไมต้องให้เขามาลงทะเบียนว่าเป็นคนจน เพราะต้องมีการทำฐานข้อมูล ซึ่งประชาชนอาจยุ่งยากและลำบาก ดังนั้น รัฐต้องมีนโยบายเชิงรุกในการเก็บข้อมูล

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำสัญญา "นักการเมือง" ต้านคอร์รัปชัน

การศึกษาไทย "ปฏิรูป" อย่างไรจึงจะสำเร็จ? 

"นักการเมืองรุ่นใหม่" ไม่ใช่แค่สีสัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง