เลือกตั้ง 2562 : คดีการเมืองทะลัก! เลือกตั้ง 24 มี.ค.62

การเมือง
7 มี.ค. 62
09:51
920
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2562 : คดีการเมืองทะลัก! เลือกตั้ง 24 มี.ค.62
ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองและนักการเมืองจำนวนไม่น้อยถูกดำเนินคดี ทั้งคดีทางการเมืองที่มีโทษสูงถึงขั้นยุบพรรค และคดีทางอาญาที่เป็นความผิดเฉพาะคน มีโทษสูงคือการตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งคดีความเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเลือกตั้ง 24 มี.ค.นี้

ยิ่งใกล้การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.2562 คดีของนักการเมืองและพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นทวีคูณ ทั้งคดีทางการเมืองและคดีทางอาญา ซึ่งส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของนักการเมืองทั้งสิ้น

พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

เริ่มจากกรณีที่ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. เป็นคดีแรกในต้นปี 2562 ที่สะเทือนวงการการเมือง สาเหตุสำคัญเกิดจากพรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ต่อมา กกต.ไม่ได้ประกาศรับรองผลการเสนอชื่อของพรรคไทยรักษาชาติ

แม้กรณีดังกล่าวจะมีผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อขอยุบพรรคไทยรักษาชาติ คือ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ให้เหตุผลว่าการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตรย์มาหาเสียง เข้าข่ายความผิดมาตรา 92(3) พ.ร.ป.พรรคการเมือง แต่กรณีนี้ กกต.เลือกใช้อำนาจของตนเองในมาตรา 92 พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีสาระสำคัญคือ เมื่อ กกต.เห็นว่ามีหลักฐานและข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้าข่ายความผิด สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรคได้ ซึ่งความผิดที่ว่าคือมาตรา 92(2) “กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทางเป็นประมุข”

พรรคไทยรักษาชาติ

พรรคไทยรักษาชาติ

พรรคไทยรักษาชาติ

ถอดรหัส พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตราสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในกรณีพรรคไทยรักษาชาติ และจะใช้กับพรรคอื่นๆ ต่อจากนี้คือ มาตรา 92 สาระสำคัญคือ เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้าข่ายความผิด ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค

   (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
   (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันนมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
   (3) การกระทำฝ่าฝืน มาตรา 20วรรค 2, มาตรา 28, มาตรา 30, มาตรา 36,มาตรา 44, มาตรา 45, มาตรา 46, มาตรา 72 หรือมาตรา 74
   (4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกําหนด

        เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

พรรคเพื่อไทย (พท.)

ปลายปี 2561 กกต.มีการรวบรวมพยานหลักฐาน กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนฮ่องกง เกี่ยวกับการเมืองในประเทศไทย ช่วงหนึ่งระบุว่า (18 ต.ค.2561) “การปกครองโดยทหารจะถึงจุดจบ หากฝ่ายประชาธิปไตยได้คะแนนมากกว่า 300 ที่นั่งในสภาฯ” ซึ่ง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ยอมรับว่า สาเหตุที่มีการรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการครอบงำโดยบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค หรือเรียกว่า “ทักษิณ” เข้าข่ายครอบงำพรรคเพื่อไทย

ขั้นตอนหลักจากนี้หาก กกต.รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จ สามารถตั้งกรรมการไต่สวนเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ชี้แจง ซึ่งหาก กกต.มีมติเห็นว่ามีความผิดจริงก็สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค แต่จนถึงขณะนี้คดีดังกล่าวยังถูกเก็บเงียบ

ชำแหละ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ข้อหาของพรรคเพื่อไทยที่เข้าข่ายความผิดคือ มาตรา 28 สาระสำคัญคือ ห้ามพรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดโดยให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ และมาตรา 29 สาระสำคัญห้ามผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง

ความผิดดังกล่าวมี 2 ส่วน ส่วนบุคคล (มาตรา 108) โทษจำคุก 5-10 ปี ปรับ 100,000 - 200,000 บาท เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่โทษของพรรคการเมือง (มาตรา 92) คือยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค

จาตุรนต์ ฉายแสง

จาตุรนต์ ฉายแสง

จาตุรนต์ ฉายแสง

พรรคเพื่อไทยยังมีคดีทางอาญา กรณีที่กองบังคับการปราบปราม ฟ้องแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายวัฒนา เมืองสุข, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายจาตุรนต์ ฉายแสง กรณีแถลงวิจารณ์ผลงานรัฐบาล คสช. 4 ปี ในข้อหาผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น ซึ่งอัยการอยู่ระหว่างการพิจารณาและเลื่อนสั่งฟ้องมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 28 พ.ย.2561 ครั้งที่ 2 วันที่ 14 ก.พ.2562 และล่าสุดเลื่อนเป็นวันที่ 21 มี.ค.2562 (ก่อนการเลือกตั้ง 3 วัน)

คดีนี้มีผล 2 ทาง ทางที่ 1 หากอัยการสั่งฟ้องและศาลพิพากษาว่าผิดจริง แกนนำพรรคเพื่อไทยจะต้องได้รับโทษทางอาญา ทางที่ 2 อาจมีผู้ร้อง กกต.เพื่อยุบพรรคเพื่อไทย โดยอาศัยมาตรา 45 พ.ร.ป.พรรคการเมือง

“ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง กระทำการหรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ”

ซึ่งโทษของมาตรา 45 พ.ร.ป.พรรคการเมืองคือ มาตรา 92(3) โดย กกต.สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคได้

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ หรือ พปชร. มีคดีทางการเมืองเป็นหลัก โดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือ กรณีโต๊ะจีนระดมทุนพรรค และกรณีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ

กรณีโต๊ะจีน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่น กกต.ตรวจสอบการระดมทุนพรรค โดยให้เหตุผลว่าการระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ ผิดมาตรา 64 พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพราะการหารายได้จากกิจกรรมระดมทุนต้องทำโดยเปิดเผย และหัวหน้าพรรคต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงจำนวนและที่มาของเงิน ภายใน 30 วัน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดดังกล่าว

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงการเปรียบเทียบคดีของพรรคไทยรักษาชาติและพรรคพลังประชารัฐ ว่า กรณีของพรรคไทยรักษาชาติ กกต.มีหลักฐานและข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่าพรรคไทยรักษาชาติมีการกระทำที่เข้าข่ายความผิด จึงยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่กรณีพรรคพลังประชารัฐยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐาน

พรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐ

ภายหลักกรณีดังกล่าว นายเรืองไกร ยังยื่น กกต.ตรวจสอบสถานะของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ได้แก่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. จึงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ขัดลักษณะต้องห้าม มาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงว่า คสช.เป็นองค์กรชั่วคราว หัวหน้า คสช.จึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมอ้างมติของ ป.ป.ช. ด้วย 2.หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ขาดคุณสมบัติ เพราะได้รับการรับรองเป็นสมาชิกพรรค หลังจากประชุมพรรคและรับตำแหน่งไปแล้ว 3. กรณีโต๊ะจีน ระดมทุนโต๊ะจีนเข้าข่ายการแสวงหากำไรมาแบ่งกัน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 20 วรรค 2 ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามมาตรา 92 (3)

กรณีสถานะ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ยื่น กกต.ยุบพรรคเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่ามีกลุ่มบุคคลครอบงำพรรคและ พล.อ.ประยุทธ์ มาจากการยึดอำนาจ เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยฯ เข้าข่ายยุบพรรค มาตรา 92 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ต่อมามี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐในประเด็นเดียวกันด้วย

ขั้นตอนของ กกต.ต่อ 2 กรณีทั้งคดีโต๊ะจีนและสถานะ พล.อ.ประยุทธ์ คือการรวบรวมพยานหลักฐานและตั้งคณะกรรมการไต่สวนหากมีมูล และหาก กกต.มีมติเห็นว่ามีความผิดจริงก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชารัฐได้ แต่ปัจจุบันมีการพิจารณาเฉพาะกรณีโต๊ะจีนเท่านั้น ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)

มีแกนนำคนสำคัญคือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. มีคดีทางการเมือง กรณีที่นายเรืองไกร ยื่นตรวจสอบการระดมเงินทุนพรรค นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งยื่นยุบพรรครวมพลังประชาชาติไทย เพราะมีแกนนำพรรคที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยฯ (มาตรา 92 พ.ร.ป.พรรคการเมือง)

พรรคอนาคตใหม่

เป็นพรรคหนึ่งที่มีคดีความเป็นจำนวนมาก โดยคดีทางการเมือง เริ่มจากทีมงานประชาชนและปกป้องรัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะมีความผิดเข้าข่ายมาตรา 92 พ.ร.ป.พรรคการเมือง เนื่องจากมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยฯ จากกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ให้สัมภาษณ์ว่าจะยกเลิกมาตรา 112 ตั้งแต่ปี 2554 และให้สัมภาษณ์ว่าจะสานต่อภารกิจของคณะราษฎร์ให้สำเร็จ

ส่วนคดีทางอาญาของพรรคอนาคตใหม่ เป็นคดีที่ส่งผลต่อบุคคล ไม่ส่งผลต่อการยุบพรรค คดีแรกคือคดีที่ คสช.ฟ้องนายธนาคร และ 2 กรรมการบริหารพรรค กรณีไลฟ์วิจารณ์พลังดูดของพรรคพลังประชารัฐ (29 มิ.ย.2561) ในความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งอัยการเลื่อนฟ้องเป็นวันที่ 26 มี.ค.2562 ความผิดนี้เป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่ส่งผลถึงการยุบพรรค ทั้งนี้หากศาลพิพากษาว่าผิดจริงในคดีทางอาญา จะส่งผลให้บุคคลขาดคุณสมบัติ ส.ส.และจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเท่านั้น

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

คดีทางอาญา ยังมี พล.ท.พงศกร รอดชมพู รองหัวหน้าอนาคตใหม่ ถูกออกหมายเรียกคดีแชร์ข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ สั่งกาแฟแพงเกินจริง ซึ่งภายหลังพบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม จึงถูกออกหมายเรียกตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่ง พล.ท.พงศกร ขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาออกไปเป็นวันที่ 10 มี.ค.2562

ขณะเดียวกันพรรคอนาคตใหม่มีการฟ้องดำเนินคดีกับบุคคลอื่น 3 กรณี ได้แก่ 1.ฟ้องคดีอาญา หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล โพสต์เฟซบุ๊ก ซึ่งมีสาระสำคัญคือการพาดพิงพรรคอนาคตใหม่ มีนโยบายล้มล้างสถาบัน 2.ฟ้องคดีอาญากรณีเว็บไซต์ T-news วิจารณ์หัวหน้าพรรคและพรรคว่ามีนโยบายล้มล้างสถาบัน 3.ฟ้องอาญาต่อบุคคลที่ส่งต่อข่าวเท็จใส่ร้ายพรรคอนาคตใหม่ กรณีพาดพิงว่านายธนาธรเป็นเจ้าของโรงเลื่อยเถื่อย

พรรคเสรีรวมไทย

เพิ่งเป็นข่าวล่าสุดหลัง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก แจ้งความเอาผิด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ หมิ่นประมาท กรณีวิจารณ์การใช้เครื่องหมายทหารบนชุดด้วยความไม่เหมาะสม และยังเอาผิดกรณีแชร์ข่าวดังกล่าวบนหน้าเพจตามฐานความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย

ขณะเดียวกัน พ.ท.ปกิจ ผลฝัก รองหัวหน้ากองยุทธการ มทบ.12 ยังได้แจ้งความดำเนินคดี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กรณีหมิ่นประมาท หลังใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมตำหนิ พ.ท.ปกิจ ระหว่างการรักษาความเรียบร้อยในการหาเสียงของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในตัวเมืองปราจีนบุรีอีกด้วย

พรรคประชาชนปฏิรูป

มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าพรรค ถูกศูนย์ประสานงานองค์กรชาวพุทธแห่งชาติ ยื่น กกต.ตรวจสอบการกระทำผิดและตัดสิทธิทางการเมืองนายไพบูลย์ เพราะใช้คำว่า "น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาทุกข์ร้อนให้กับประชาชน คือ งานของพรรคประชาชนปฏิรูป" มีความผิดตามมาตรา 14 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ระบุว่า ข้อบังคับต้องไม่มีลักษณะดังนี้ (1) เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ถ้า กกต.พบว่ามีความผิดจริงขอให้ตัดสิทธิและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค

 

ล่าสุด นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ กลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง ยังยื่น กกต.ขอยุบพรรคประชาชนปฏิรูป เพราะนายไพบูลย์เป็นอดีตแกนนำ กปปส. ซึ่งมีการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ เข้าข่ายความผิดมาตรา 92 จึงขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค

รอบ 2 เดือน มีคดีนับไม่ถ้วนเกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีทางการเมืองที่มีการยื่นคำร้องไปยัง กกต.เพื่อขอให้ยุบพรรคการเมือง แต่ทั้งหมดเป็นอำนาจของ กกต.ที่จะรวบรวมพยานหลักฐาน ตั้งคณะกรรมการไต่สวนและมีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ขณะเดียวกันมีคดีทางอาญาที่อยู่ในศาลยุติธรรมจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นความผิดเฉพาะที่จะส่งผลต่อคดีทางการเมือง คือการขาดคุณสมบัติ ส.ส.และถูกตัดสิทธิทางการเมือง และมีน้อยกรณีที่จะสามารถเชื่อมโยงไปสู่การยุบพรรค อาทิ ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ที่อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 45 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งมีโทษถึงขั้นยุบพรรค

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง