วันนี้ (9 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุโมงค์เชื่อมผืนป่าเขาใหญ่- ทับลาน บนทางหลวงหมายเลข 304 สายกบินทร์บุรี- ปักธงชัย จะเปิดให้ใช้งานได้อย่างเป็นทางการเป็นวันแรก แม้ก่อนหน้านี้บนถนนสาย 304 เกิดอุบัติเหตุรถชนทั้งรถชนกันเอง และชนสัตว์ป่าจนตายหลายครั้ง รวมทั้งถนนที่เป็นคอขวดมีเพียงสองช่องจราจรทำให้การจราจรติดขัด
โครงการทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกบนทางหลวงหมายเลข 304 สายกบินทร์บุรี-ปักธงชัย ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ และที่ผ่านมาได้เปิดให้ประชาชนใช้สัญจรไปมาได้แล้ว จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคมเป็นประธานในพิธี
สำหรับโครงการทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กับอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นการขยายถนนสาย 304 ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 191 ถึง 195 และบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 207 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 233 กรมทางหลวงได้ขยายถนนให้เป็นถนน 4 ช่องจราจร รวมระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร
ลักษณะเด่นของอุโมงค์แห่งนี้ได้มีการถมดินด้านบนและปลูกต้นไม้ซึ่งเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก และสร้างโป่งเทียม และบ่อน้ำ เพื่อจูงใจให้สัตว์ป่าเข้ามา และสามารถเดินข้ามฝั่งไป-มาได้รวมทั้งติดรั้วกั้นด้านล่างอุโมงค์ไม่ให้รถเฉี่ยวชนสัตว์ป่า
และห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเป็นสะพานยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ยาวกว่า 500 เมตร โดยให้รถยนต์ใช้ทางยกระดับและปลูกต้นไม้ให้สัตว์ป่าลอดใต้ทางยกระดับดังกล่าวขณะที่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร ยังได้ก่อสร้างสะพานทางยกระดับเพื่อเป็นทางลอดสัตว์ป่า ซึ่งรถสามารถวิ่งบนสะพาน ขณะเดียวกันสัตว์ป่าสามารถลอดใต้สะพานไป-มาได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ เส้นทางสาย 304 ยังเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นเส้นทางสายหลักที่รองรับการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกด้วย
ขณะที่ก่อนหน้านี้มีเสียงคัดค้านและความกังวลใจของนักอนุรักษ์ ว่าโครงการนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสัตว์ป่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าการก่อสร้างจะมีผลดี เพราะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม ควบคู่กับการอนุรักษ์ ซึ่งปัจจุบันได้รับรายงานว่า บริเวณหลังคาอุโมงค์พบรอยเท้าของสัตว์ป่าข้ามไปมาทั้ง 2 ผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งสะท้อนว่ามีพื้นที่ระบบนิเวศน์มีความสมบูรณ์
ทั้งนี้ ได้มีมาตรการในการลดผลกระทบเช่นมาตรการลดผลกระทบทางเสียง โดยติดตั้งกำแพงกั้นเสียงชนิดมีช่อง สำหรับปลูกต้นไม้สองฟากแนวเส้นทางระดับดินและปลูกต้นไม้ท้องถิ่นตามแนวรั้วเหล็ก พร้อมทั้งยังได้ติดตั้งกำแพงกันเสียงส่วนมาตรการลดผลกระทบทางแสง ได้ติดตั้งไฟส่องทางบนทางยกระดับ บริเวณทางสัตว์ป่าจะใช้ไฟส่องทาง ที่มีการจำกัดการกระจายของแสง เพื่อป้องกันผลกระทบจากแสงไฟรบกวนกิจกรรมของสัตว์ป่าในบริเวณทางสัตว์ผ่าน
ทั้งนี้ หลังจากการเปิดใช้อุโมงค์เชื่อมผืนป่าอย่างเป็นทางการแล้ว ยังต้องติดตามว่าจะมีการจำกัดความเร็วของรถที่ใช้เส้นทางนี้ รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของสัตว์ป่าที่จะมาหากินบริเวณนี้อย่างไร