หลังจากกลุ่มธุรกิจน้ำเมาออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มใหม่ ที่รูปลักษณ์ไม่ต่างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์แต่โฆษณาว่า ไม่มีแอลกอฮอล์ มองในแง่ธุรกิจธุรกิจน้ำเมาก็ต้องหาโอกาสใหม่ พยายามสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่ในแง่กฎหมาย ภาษีการควบคุม คงมีมุมมองที่่ต่างไป เพราะบอกไม่มีแอลกอฮอล์แต่ยังสื่อหรือจูงใจเหมือนน้ำเมาอยู่ดี
เครื่องดื่มมอลต์ที่หน้าตาเหมือนเบียร์แต่ระบุว่าไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งมีการโฆษณาใช้คำว่า เบียร์ 0% ซึ่งอาจกลายเป็นการจูงใจได้ง่ายกว่าเดิมนี่คือความน่าห่วง ที่อาจต้องมีแนวทางมาดูแลชัดเจน
แนวทางด้านหนึ่งที่จะดูแลคือการเก็บภาษี เพราะขายทำตลาดในไทยหลายยี่ห้อ และมีรายที่เริ่มผลิตในไทยบ้างแล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขห้ามไม่ให้เรียกว่าเบียร์และไม่ให้โฆษณาว่าเป็นเบียร์ แต่ให้เรียกว่า เครื่องดื่มมอลต์ เพื่อจะได้ไม่กระตุ้นให้คนดื่ม
ราคาเครื่องดื่มชนิดดังกล่าวอยู่ที่ราคากระป๋องละประมาณ 39-99 บาท เสียภาษีกลุ่มสินค้าประเภทน้ำอัดลมอัตราประมาณร้อยละ 14 หรือ กระป๋องหนึ่งเสียภาษีอยู่ที่ 5 - 12 บาท หากเป็นเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์จะเสียภาษีร้อยละ 22 ของราคาขายบวกปริมาณแอลกอฮอล์ แต่ด้วยการมีรูปลักษณ์คล้ายเบียร์ แต่ไม่มีแอลกอฮอล์เลยดูเหมือนต้องแยกประเภทออกมาต่างหาก
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เบื้องต้นอาจเสนอออกกฎกระทรวง เปิดพิกัดเครื่องดื่มประเภทพิเศษ รองรับการออกผลิตภัณฑ์แบบนี้ โดยกำหนดอัตราภาษีระหว่างเครื่องดื่มให้ความหวาน ที่มีปริมาตรแอลกอฮอลล์ น้อยกว่าร้อยละ 0.5 เพื่อลดช่องว่างของกฎหมาย แต่ก็อาจเป็นคำถามว่า แม้คุณสมบัติ คือไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ตราสัญลักษณ์ กระป๋อง ขวด แทบแยกไม่ออก ข้อนี้ควรต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนหรือไม่ว่า ไม่ได้ขีดเส้นแค่ผลิตภัณฑ์นี้มึนเมาหรือไม่ เสพติดหรือไม่ แต่มันผูกโยงภาพลักษณ์ความเชื่อว่าคือกลุ่มเดียวกัน จนอาจส่งผลถึงพฤติกรรมบุคคล จะต้องมีข้อบังคับหรือไม่ว่าควรทำแบรนด์ใหม่ให้ต่างไปเลยจะดีกว่า ป้องกันคนสับสน แม้เป็นเรื่องธุรกิจ แต่อาจส่งผลต่อเชิงสังคมภายหลัง