ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จ่อยื่นฟ้องศาลปม ม.44 - กสทช.เอื้อ 3 ค่ายมือถือยืดหนี้ 10 ปี

เศรษฐกิจ
20 เม.ย. 62
12:46
6,886
Logo Thai PBS
จ่อยื่นฟ้องศาลปม ม.44 - กสทช.เอื้อ 3 ค่ายมือถือยืดหนี้ 10 ปี
กลุ่มญาติวีรชนฯ และภาคประชาชน เตรียมยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯ หลังร่วมกันชำแหละ มาตรา 44 - กสทช.เอื้อ 3 ค่ายมือถือยืดหนี้ 10 ปี ไม่คิดดอกเบี้ย ใช้อำนาจโดยมิชอบ หวั่นเข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบาย

วันนี้ (20 เม.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสำนักงาน กสทช.ตัดสินใจให้เอกชนที่บริการโทรคมนาคม 3 รายที่ให้บริการ 4G คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ มีโอกาสบริการ 5G คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ได้ต่อไปโดยไม่ต้องประมูล และ กสทช.กำหนดให้ทั้ง 3 รายขยายเวลาชำระเงินประมูล 4G ออกไปได้เป็น 10 ปี จากเดิมต้องชำระใน 5 ปี และไม่คิดอัตราดอกเบี้ยนั้น ล่าสุด เช้าวันนี้ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับคณะตรวจสอบภาคประชาชนร่วมกันแถลงคัดค้านการใช้ มาตรา 44 โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน มิใช่สาธารณะประโยชน์

 

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์

 

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ คณะกรรมการญาติวีรชนฯ เปิดเผยว่า สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ออกมาตรา 44 เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนค่ายมือถือ แต่ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้เกิดกับสาธารณประโยชน์ จึงมองว่าเป็นการออกกฎหมายโดยไม่ชอบ หลังจากมีหลายหน่วยขณะนี้ เริ่มออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะล่าสุด กรณีที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวเตือนทักท้วง แต่รัฐบาลไม่ได้รับฟัง มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงประชาชน เป็นเรื่องที่น่ากังวลและมาดำเนินการในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะในช่วงนี้อย่างยิ่ง

 

ชาญชัย อิสระเสนารักษ์

ชาญชัย อิสระเสนารักษ์

ชาญชัย อิสระเสนารักษ์

 

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ภาคประชาชน กล่าวว่า การออก มาตรา 44 ตามเจตนารมณ์ มีไว้สำหรับความจำเป็นเพื่อปฏิรูป, ส่งเสริมความสามัคคีสมานฉันท์, ป้องกันเหตุหรือระงับเหตุ หรือเกี่ยวข้องกับความจำเป็น ซึ่งมีหลายกรณีได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา แต่การนำมาตรา 44 มาใช้กับการดำเนินการคลื่นความถี่โทรคมนาคมนั้น รวมถึงเสมือนเป็นการสั่ง กสทช.ใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วไปดำเนินการโดยไม่ชอบ ไม่ใช่การใช้อำนาจรัฐฐาธิปัตย์ที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ และส่งผลทำให้เกิดความเสียหายด้วยการขยายเวลาชำระงวดเงินประมูลของ 3 ค่ายมือถือจากเดิม 5 ปี ออกไปเป็น 10 ปี โดยไม่เสียดอกเบี้ย ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิทัลที่ยังต้องจ่ายเงินประมูลทีวีดิจิทัลโดยต้องเสียดอกเบี้ยด้วย

นายอิสระ ยังได้เปิดเอกสารร่างคุณสมบัติเบื้องต้น (TOR) คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งกำหนดระยะเวลาการชำระค่าประมูลไว้ชัดเจน รวมถึงกำหนดเงื่อนไขการคิดอัตราใช้บริการกับประชาชน แต่ กสทช.ไม่ได้บังคับให้เป็นไปตามนั้น นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขการกำหนดค่าบริการ ที่ระบุว่า สัญญาคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ กำหนดไว้ห้ามคิดเกิน 0.60 บาท แต่ปัจจุบันพบว่าค่ายมือถือเก็บอยู่ที่ 1 บาทเศษ ดังนั้น การใช้อำนาจมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ซึ่งคดีเหล่านี้จะต้องนำขึ้นศาลเร็วที่สุด เพราะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ซึ่งการประกอบกิจการแม้พบว่าถ้าขาดทุนก็ไม่มีสิทธิ์จะร้องขอ และจากการตรวจสอบงบดุลของ บ.เอไอเอส พบว่ามีกำไร 3 ปี โดยในปี 2559-2560 กว่า 30,000 ล้านบาท และปี 2561 มีกำไรกว่า 20,000 ล้านบาท เหตุใดการลงทุนจึงไม่นำกำไรส่วนนี้มาดำเนินการ

 

วันนี้ได้เกิดปรากฏการณ์ฟ้าผ่าลงหัวใจคนไทย การออกมาตรา 44 และการที่ กสทช.ช่วยมหาเศรษฐีด้วยการอ้างถึง 5G ที่จำเป็นต้องทำ แต่กลับเป็นการล็อกสเปกให้กับ 3 บริษัทในรูปแบบผูกขาด ไม่มีทางเลือก กรณีที่เกิดขึ้นผมจะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การใช้อำนาจ มาตรา 44 ต่อประเด็นที่ให้ กสทช.ดำเนินการเอื้อประโยชน์ให้ค่ายมือถือ เป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ เพราะบริษัททั้ง 3 รายมีผลประกอบการกำไรในเกณฑ์ดี ซึ่งการเรียกคืนความถี่คืนนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 แม้ว่านายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ระบุว่าการยืดชำระค่าประมูลจะทำให้รัฐมีรายได้มากกว่า 30-40% แต่ถ้านำคลื่น 5G ไปเปิดประมูล มั่นใจว่าจะทำให้รัฐมีรายได้มากกว่าการไม่เปิดประมูล ซึ่งไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน

 

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

 

สำหรับคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะนำใช้บริการ 5G นั้น การนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องลงทุนมหาศาล จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่มากกว่า 700 เมกะเฮิรตซ์ แต่ไม่สามารถรองรับการใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ ซึ่งการใช้คำสั่ง คสช.ลักษณะนี้ เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ และหากพิจารณาจากเนื้อหาตามมาตรา 44 จะพบว่ามาตรา 44 ไม่ได้บอกชัดว่าให้ กสทช.ทำอย่างนี้อย่างนั้น แต่การใช้มาตรา 44 เสมือนกำลังโยนความรับผิดชอบไปให้ กสทช.ที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นเลขาธิการ กสทช.จะแบกรับความเสี่ยงไว้เอง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เรื่องที่ควรรู้ กับคำสั่ง คสช. อุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง