วันนี้ (26 เม.ย.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเพื่อกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนงานวิชาการเกี่ยวกับถ้ำให้เกิดความชัดเจน
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากนี้จะบริหารจัดการถ้ำให้เข้าระบบแบบครบวงจร โดยมีการจัดทำ “ฐานบัญชีถ้ำ” ที่ผ่านมาสามารถกำหนดได้ชัดเจนประมาณ 3,080 แห่ง จากทั้งหมดมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ โดยจะแบ่งกรอบระยะเวลาดำเนินงานออกเป็น ระยะ 4 ปี ระยะ 10 ปี และระยะ 20 ปี หากสำรวจและรวบรวมแล้วเสร็จจะเกิดประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติภายในถ้ำและโดยรอบถ้ำต่างๆ ควบคู่กับกับการดูแลรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการถูกทำลายโดยมนุษย์
บางถ้ำจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอนาคตแล้วสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบ ด้วยการสร้างเครือข่ายและมีส่วนร่วมในการรักษาถ้ำ ที่สำคัญการสำรวจถ้ำเป็นการป้องกันอันตรายที่เกิดจากภายในถ้ำ หากจุดใดเป็นจุดเสี่ยงเกิดอันตรายจะประกาศห้ามเข้าพื้นที่ป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดกับนักท่องเที่ยวและประชาชน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น น้ำ ระบบนิเวศ เพื่อนำสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ขณะที่ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ประชาชนและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เริ่มให้ความสนใจเรื่องถ้ำมากขึ้น หลังกรณีถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงรายขึ้น ทำให้การสำรวจและพัฒนาถ้ำที่เหมาะสมเป็นแหล่งท่องเที่ยว ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนและลดความแออัดของแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม
นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญถ้ำและนักสำรวจจากต่างประเทศ ที่เคยเข้าร่วมปฏิบัติกู้ภัยทีมหมูป่าอะคาเดมี มาร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย โดยการสำรวจภายในตัวถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนด้วย จะใช้ระยะเวลาสำรวจ 2 ปี โดยทีมธรณีวิทยาจะเริ่มเข้าพื้นที่ช่วงสุดสัปดาห์หน้า
โจชัวร์ เดวิส มอริส หนึ่งในที่ปรึกษาชาวต่างชาติ ระบุว่า การที่ประเทศไทยให้ความสำคัญในการสำรวจและศึกษาถ้ำทั่วประเทศ จะทำให้มีองค์ความรู้และประวัติศาสตร์ของประเทศสืบต่อไปยังคนรุ่นหลัง
นอกจากศึกษาโครงสร้างถ้ำแล้วคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติจะศึกษาความเชื่อมโยงของถ้ำกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะและความเป็นมาทางสังคมร่วมด้วย เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม และดึงคนท้องถิ่นเข้ามาช่วยกันพัฒนาและรักษาถ้ำในแต่ละพื้นที่ให้ยั่งยืน