สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งได้รับท่อน้ำเลี้ยงจากธุรกิจผิดกฎหมายอย่าง “ยาเสพติด” ถือเป็นภัยแทรกซ้อนความมั่นคงที่ถูกยกมาพูดถึงและกำหนดแผนขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ข้อมูลศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดปัตตานี พบว่า ยาเสพติดกระจายในทุกหมู่บ้านและชุมชนใน จ.ปัตตานี และมีแนวโน้มการแพร่ระบาดในระดับรุนแรง ทั้งยาบ้า น้ำพืชกระท่อม สี่คูณร้อย ไอซ์ เฮโรอีนและกัญชา
เร่งแก้ “ยาเสพติด” ภัยแทรกซ้อน จชต.
พล.ต.สมพล ปานกุล รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า เมื่อก่อนมีคนบอกว่าเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉลี่ย 8 ใน 10 คนติดยาเสพติด รวมถึงเป็นพื้นที่พักยาเสพติดก่อนส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการทั้งปราบปรามและบำบัดผู้ติดยาเสพติด ในหมู่บ้านเป้าหมาย 1,500 หมู่บ้าน
พล.ต.สมพล ปานกุล
ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ จ.ปัตตานี ต้องการให้แก้ปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นภัยแทรกซ้อนเชื่อมโยงขบวนการสร้างสถานการณ์ ขณะนี้ตั้งเป้าดึงเยาวชนเข้ารับการบำบัดยาเสพติด 3 เดือน จากนั้นจะฝึกอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
การตัดวงจรยาเสพติดที่เป็นท่อน้ำเลี้ยง น่าจะช่วยให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น
หน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ เร่งปราบปรามจับกุมผู้ค้ายาเสพติด แต่อีกสิ่งสำคัญที่ต้องทำคู่ขนานกัน คือ ลดจำนวนผู้หลงผิด และทำให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ นำไปสู่การตั้งค่ายพักพิงเพื่อการบำบัด (แคมป์ 35)
ไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าฯ ปัตตานี
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เล่าว่า โรงพยาบาลธัญญารักษ์และกระทรวงสาธารณสุข จัดทำหลักสูตร Camp 35 เป็นการรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติด แบบ Fast Model คือ การบำบัด 35 วัน ติดตามผล 90 วัน สอดคล้องกับนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 ในการปราบปรามยาเสพติด
5 ขั้นตอน Camp 35
- ค้นหาผู้ป่วยยาเสพติดในทุกหมู่บ้าน โดยสำรวจข้อมูลจากการทำประชาคมทางลับ ข้อมูลการจับกุม ข้อมูลการบำบัดรักษา พ่อแม่ผู้ปกครองนำลูกหลานเข้ามารับการบำบัด และการสมัครใจ
- คัดกรองผู้ป่วยยาเสพติด โดยศูนย์คัดกรองยาเสพติดอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) เพื่อแบ่งเป็นระดับผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติด ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต และผู้ป่วยยาเสพติด ประเภทก้าวร้าว
- กระบวนการบำบัดรักษายาเสพติด เริ่มตั้งแต่การถอนพิษยา ฝึกระเบียบโดยครูฝ่ายปกครองจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดปัตตานี, ฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย, การรักษาพยาบาล, เพิ่มทักษะปฏิเสธยาเสพติด สร้างแรงบันดาลใจในการลด ละ เลิก ใช้ยาเสพติด และเสริมสร้างคุณธรรม ฟังบรรยายเกี่ยวกับหลักศาสนาเพื่อขัดเกล้าจิตใจ
- กระบวนการติดตามดูแลต่อเนื่องในชุมชน โดยชุดปฏิบัติการร่วมแก้ปัญหายาเสพติดประจำตำบล (Take Care Team) ทุกตำบล มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ปลัดอำเภอ ตำบลละ 15 คน ติดตามผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดแล้ว
- กระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อผู้ที่ผ่านการบำบัดแล้วเข้าไปอยู่ในชุมชน หากตรวจสอบ 4 ครั้ง ภายใน 3 เดือน ไม่พบการใช้ยาเสพติด จะเข้าสู่การอบรมวิชาชีพและมอบอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ต่อไป
หัวใจสำคัญ “เทคแคร์ทีม”
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี บอกว่า หัวใจสำคัญของกระบวนการบำบัด คือความร่วมมือจากคนในชุมชนช่วยกันรักษาผู้ติดยาเสพติดและให้โอกาสสร้างอนาคตใหม่อีกครั้ง รวมถึงเทคแคร์ทีมที่ติดตามดูแลหลังผ่านการบำบัด การจัดกิจกรรมพบปะสันทนาการ เล่นกีฬา ป้องกันผู้เข้าร่วมอบรมกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ
ชุมชนเข้มแข็ง ลดป่วยยาเสพติด
นพ.อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี กล่าวว่า งานยาเสพติดไม่ใช่งานทางการแพทย์อย่างเดียว เมื่อก่อนทุกคนเข้าใจว่าแค่หมอรักษาบำบัดเสร็จก็จบเรื่อง จึงเอาชนะยาเสพติดไม่ได้ นำไปสู่ความร่วมมือทั้งจากฝ่ายปกครองและชุมชน เพราะเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว หากไม่มีการดูแลที่ดีจะทำให้การลงทุนจะสูญเปล่า อีกสิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยนคุณภาพชีวิตผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดแล้ว ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่กลับไปใช้ช้ำ หากป่วยใหม่ต้องดึงกลับมาบำบัดอย่างรวดเร็ว
ออกไปใหม่ ๆ ดีทุกคน แต่ถ้าไม่มีคนดู สิ่งแวดล้อมไม่ดี ก็ต้องกลับมาใหม่
นพ.อดิศักดิ์ ยืนยันว่า แคมป์ 35 ทำตามหลักวิชาการ นำวิธีการดูแลผู้ป่วยนอก คือ กาย จิต สังคม มาประยุกต์กับการดูแลแบบผู้ป่วยใน โดยจะเปิดค่ายรุ่นที่ 2 ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ และเปิดต่อเนื่องอีก 10 รุ่น เพราะโรคยาเสพติด เป็นโรคป่วยเรื้อรัง ลักษณะเหมือนเบาหวาน ความดัน ช่วงที่ควบคุมได้จะกลับมาเป็นปกติดี แต่ช่วงไหนไม่ดูแลตัวเองก็มีโอกาสป่วยได้ การปราบแหล่งค้าให้เหลือน้อยที่สุดจะช่วยลดความเสี่ยงของคนป่วยด้วย
สำหรับแคมป์ 35 รุ่นแรก มีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด 235 คน จากพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ มากที่สุด 78 คน, อ.เมืองปัตตานี 62 คน, อ.แม่ลาน 48 คน และ อ.หนองจิก 47 คน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ผมมีความสุขมาก ที่ไม่ต้องใช้ยาเสพติดอีกแล้ว”