ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"โดดเรียน-ขาดงาน" เดินขบวนจี้รัฐบาล-เอกชนแก้ "โลกร้อน"

สิ่งแวดล้อม
24 พ.ค. 62
14:05
1,549
Logo Thai PBS
"โดดเรียน-ขาดงาน" เดินขบวนจี้รัฐบาล-เอกชนแก้ "โลกร้อน"
"โดดเรียน ขาดงาน มาเดินขบวน" กับกลุ่ม Climate Strike Thailand จากสนามกีฬาแห่งชาติ ถึงแยกราชประสงค์ ล่ารายชื่อ เตรียมส่ง 5 ข้อเรียกร้องจี้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหา "ภาวะโลกร้อน" อย่างเร่งด่วน

วันนี้ (24 พ.ค.2562) กลุ่ม Climate Strike Thailand และ Too Young to Die ร่วมกับประชาชน และกลุ่มเยาวชน รวมตัวกันบริเวณหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อเดินรณรงค์แก้ไขปัญหาโลกร้อน ในแคมเปญ "โดดเรียน ขาดงาน มาเดินขบวน" โดยจะเดินจากสนามกีฬาแห่งชาติ ถึงแยกราชประสงค์ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ตั้งแต่เวลา 11.00 น.

 

นันทิชา โอเจริญชัย กลุ่ม Climate Strike Thailand ผู้ริเริ่มโครงการ "โดดเรียน ขาดงาน มาเดินขบวน" ระบุว่า โครงการ "โดดเรียน ขาดงาน มาเดินขบวน" เริ่มขึ้นจากแรงบันดาลใจที่เกิดจากเกรตา ธุนเบิร์ก เด็กหญิงที่รณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนมาอย่างต่อเนื่อง และได้หยุดเรียนทุกวันศุกร์ เพื่อออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อลูกหลานที่ต้องอาศัยอยู่บนในอนาคต

 

จะหาเงินไปทำไม ถ้าไม่มีโลกให้อยู่ ?

นันทิชา จึงได้สร้างกิจกรรมขึ้นบนเฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนให้กลุ่มคนหรือประชาชนที่เห็นถึงปัญหาภาวะโลกร้อนมาช่วยกันแสดงออกถึงความสำคัญให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ที่ลุกขึ้นมาทำในวันนี้ เพราะหนูกลัวตาย เชื่อว่าทุกคนคงอยากมีชีวอตและอนาคตที่ดี เราเองก็ยังอายุน้อย อยากมีชีวิตที่สนใส ไม่ใช่ร้อนแบบนี้ เป้าหมายชีวิตมันไม่ใช่การหาเงินแล้ว เพราะไม่รู้จะหาไปทำไม ถ้าไม่มีโลกให้อยู่

 

สำหรับการเดินขบวนรณรงค์ในครั้งนี้ต้องการเรียกร้องจากรัฐบาลและภาคเอกชน ให้เห็นชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ

ตอนนี้พวกเขาคิดถึงเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจ และเรื่องเงิน แต่สิ่งที่พวกเขาลืมคิดถึง คือ โลก ที่เป็นอนาคตของพวกเขาเหมือนกัน

 

กลุ่ม Climate strike Thailand และประชาชนที่เข้าร่วมจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล 5 ข้อ ได้แก่

  1. ขอเรียกร้องให้กรุงเทพและประเทศไทยประกาศภาวะฉุกเฉนเรื่องสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน
  2. ขอให้ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยต้องการรถเมล์มีสภาพที่พร้อมอำนวยความสะดวกประชาชนและไม่ปล่อยควันดำ สร้างมลพิษให้โลก เพื่อลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัว
  3. ขอให้กรุงเทพมหานครและประเทศไทยใช้พลังงานทดแทนแทนการใช้พลังงานจากถ่านหินที่สร้างมลพิษให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น
  4. ขอให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจโดบคำนึงถึงการเป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม
  5. ขอให้เพิ่มพื้นที่สีเขียว เนื่องจากกรุงเทพมหานครติดหนึ่งในเมืองที่มีอัตราพื้นที่สีเขียวต่อประชากรน้อยที่สุดในโลก

พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจและให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อน ร่วมลงชื่อเพื่อนำไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต่อไป ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Climate strike Thailand 

 

โลกร้อนใกล้ตัวมาก ขนาดฤดูหนาวยังหายไป ?

ขณะที่ พญ.สนาธร รัตนภูมิภิญโญ เจ้าของเพจ Too young to die ที่ได้เข้าร่วมโครงการ ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีความกังวลกับปัญหาภาวะโลกร้อนมาอย่างต่อเนื่อง จึงตัดสินใจเปิดเพจบนเฟซบุ๊กขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน 

 

หลังจากนั้นได้ติดตามโครงการของเกรตา ธุนเบิร์ก ที่ออกมาเคลื่อนไหวก็รู้สึกอยากเข้าร่วม จนพบว่าเพจ Climate strike Thailand ได้จัดโครงการ "โดดเรียน ขาดงาน มาเดินขบวน" จึงเข้าร่วมและมาเดินขบวนรณรงค์ด้วยในวันนี้

ประเทศอื่น เขาตื่นตัวและดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากแล้ว ขณะที่ประเทศไทยกลับมีแผการจัดการที่อาจไม่ทันการณ์ ซึ่งนี่อาจเป็นปัญหา

พญ.สนาธร ย้ำว่า คนไทยยังมองเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว ยังคงใช้ชีวิต ใช้พลังงานอย่างเต็มที่ ส่วนตัวเลิกใช้พลาสติกมา 6 เดือนแล้ว แต่ยังเห็นคนไทยจำนวนมากใช้พลาสติกอย่างทิ้งขว้าง ในขณะที่ต่างประเทศต้องใช้เงินเพื่อซื้อพลาสติก

บางคนอาจมองว่า เริ่มลดที่ตัวเองก็ได้ ทำไมต้องออกมาเดินขบวน แต่เราทุกคนช่วยกันเองมันไม่สำเร็จหรอก หากรัฐบาลไม่ช่วย ลองคิดว่าเราจะลดโลกร้อนได้อย่างไร หากรถเมล์ไทยยังมีสภาพแบบนี้

บางคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมต้องลางาน ต้องโดดเรียน พญ.สนาธร ตอบว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นการแสดงออกเพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้เพิ่มมากขึ้น ทำไมพนักงานของเราถึงหายไป ทำไมนักเรียนถึงไม่มา มันจะสะท้อนว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกคนต้องเร่งช่วยกันแก้ไข

พญ.สนาธร ย้ำว่า ตนไม่ได้ตำหนิการทำงานของรัฐบาล เนื่องจากคาดว่าคงมีแผนการดำเนินงานในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่คิดว่าความสำคัญและความรวดเร็งในการดำเนินงานอาจยังไม่เพียงพอ และหากเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจแก้ปัญหาได้ไม่ทันการณ์จึงคาดหวังให้คนไทยช่วยกันให้ความสำคัญกับโลกให้มากขึ้น เพราะโลกร้อนใกล้ตัวเรามาก ที่ขนาดฤดูหนาวที่ผ่านมายังหายไป

 

ทั้งนี้ สำหรับบรรยากาศการเดินขบวนเป็นไปด้วยความคึกคัก ประชาชนที่เข้าร่วมเดินขบวนมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างพร้อมใจกันตะโกนคำว่า "What do we want" และ "Climate justice now" และมีการวาดลวดลายเชิงสัญักษณ์ เพื่อสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาภาวะโลกร้อนบนเสื้อ ป้าย และบนร่างกาย โดยมีประชาชนที่สัญจรไปมาให้ความสนใจกับกิจกรรมตลอดเส้นทางเดินขบวน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง