ช่วงชีวิต 99 ปี ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จากเด็กชายที่เติบโตในชนบทจังหวัดสงขลา สู่ตำแหน่งสำคัญทางการเมืองและการทหาร จนถึงวันที่ พล.อ.เปรม ถึงแก่อสัญกรรม เป็นเครื่องยืนยันว่า พล.อ.เปรม ได้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อชาติบ้านเมือง และเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ "รัฐบุรุษ..ชื่อเปรม" ที่คนใกล้ชิดและนายทหารที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกป๋า ร่วมจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เมื่อปี 2528 ขณะที่พล.อ.เปรม ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เกิดมาในครอบครัวที่ฐานะไม่ดีนัก คุณพ่อเป็นพัศดีเรือนจำ ความจริงท่านอยากเป็นหมอแต่ว่าครอบครัวท่านยากจน ไม่มีทุนจึงเลือกเรียนทหาร จะเห็นว่าชีวิตของท่านเติบโตในชนบทตลอด อยู่ในสังคมโดยเฉลี่ยเหมือนบุคคลโดยทั่วไป ผมจึงคิดว่านี่คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานทางความคิด
พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ในฐานะเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 6 ของ 2 นายทหารที่ถูกเรียกว่า "ลูกป๋า" คือ พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย และ พล.อ.อู้ด เบื้องบน สะท้อนภาพ พล.อ.เปรม ในแง่มุมทางทหารว่า เป็นผู้บังคับบัญชาที่มีความละเอียด และมีเมตตาสูง จนเป็นที่มาของคำว่า "ป๋าเปรม" ในช่วงที่ พล.อ.เปรม เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า
ป๋าเปรมยืนอยู่ที่เคียงข้างประชาชน เคียงข้างผลประโยชน์ของชาติ เพราะฉะนั้นอะไรที่จะมาเปรียบเทียบและไม่สอดคล้องสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง หรือสนับสนุน พล.อ.เปรม ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน ท่านจึงผ่านมาได้ทุก ๆ เรื่อง และลงจากเก้าอี้เองเมื่อคำตอบว่า ผมพอแล้ว ปี 2538
แต่จุดเปลี่ยนของ พล.อ.เปรม ที่นำไปสู่บทบาทสำคัญทางการเมืองและการทหารเกือบทั้งชีวิต เกิดขึ้นหลังจาก พล.อ.เปรม ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ก่อนจะขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 คุมกำลังภาคอีสาน และได้พบเห็นความยากลำบากของประชาชน ในช่วงเวลาเดียวกับการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ทำให้ พล.อ.เปรม ผลักดันนโยบายการเมืองนำการทหาร และเกิดเป็นคำสั่ง 66/23 หลัง พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพียง 1 เดือน
พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง 3 สมัย นานกว่า 8 ปี ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในจุดเสี่ยงทั้งจากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ และเหตุวุ่นวายทางการเมือง ในช่วงปี 2524 แต่ พล.อ.เปรม ได้พิสูจน์ความสำเร็จในการผ่านวิกฤติต่างๆ ด้วยหลักยึดคือประเทศชาติและประชาชน ก่อนจะลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พร้อมกับคำตอบว่า "ผมพอแล้ว"
พล.อ.เปรม ได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีเมื่อปี 2531 และเป็นประธานองคมนตรีในปี 2541 หลังจากนั้น มีบทบาทเกี่ยวข้องกับกองทัพและรัฐบาลเรื่อยมา โดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย และมักจะส่งสัญญาณถึงสถานการณ์ในบ้านเมืองไปยังผู้นำรัฐบาลและเหล่าทัพ จากการเปิดบ้านพักสี่เสาร์เทเวศร์ในโอกาสสำคัญ
แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นผู้มากบารมีในกองทัพ โดยเฉพาะช่วงเหตุขัดแย้งทางการเมืองในปี 2548-2549 ซึ่ง พล.อ.เปรม ได้ปรากฎตัวในชุดทหารเต็มยศไปบรรยายพิเศษที่โรงเรียนนายร้อย 3 เหล่าทัพ ก่อนจะเกิดเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
จนมาถึงเหตุการณ์ยึดอำนาจของ คสช. แม้ พล.อ.เปรม ไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้อง แต่ พล.อ.เปรม ก็แสดงท่าทีสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาโดยตลอด แต่ภาพสะท้อนของ พล.อ.เปรม ที่นอกเหนือไปจากบทบาททางการเมือง คือตัวแทนของความจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริต รวมไปถึงความห่วงใยต่อเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวคิดที่ฝากไว้ เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน