ในการประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาระบบกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางสำหรับประเทศไทย เรื่อง "บทบาทกรมการขนส่งทางราง"
นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาระบบกํากับดูแลกิจการขนส่งทางรางสำหรับประเทศไทย คาดว่าภายในปลายปีนี้ ร่างพระราชบัญญัติกำกับกิจการขนส่งทางราง จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งจะทำให้กรมการขนส่งทางรางมีบทบาทหน้าที่เต็มในการดำเนินงาน โดยภารกิจเร่งด่วนคือการปรับปรุงอัตราค่าโดยสารใหม่ ซึ่งจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวคิดเรื่องการนำจะเงินภาษีที่จัดเก็บโดยท้องถิ่นที่จัดเก็บจากการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี มาอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าเพื่อให้มีราคาถูกลง หรือ อาจจะพิจารณาจากกองทุนอื่นๆ นำมาดำเนินการ
ด้านนายสุเมธ องกิตติกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการขนส่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนต้องแบกรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1,000 - 1,200 บาท หรือคิดเป็น ปีละกว่า 12,000 บาท หากนำอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยมาเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ถือว่ามีราคาสูงกว่าประมาณร้อยละ 20
ภาครัฐจึงควรมีนโยบายช่วยเหลือเปิดให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายในการโดยสารรถไฟฟ้า มาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลประจำปี เพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น นอกจากอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูง และยังต้องเดินทางข้ามระบบ ต้องเสียค่าแรกเข้าระบบ ในอนาคตจึงควรพัฒนาตั๋วร่วมให้เป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน