ชวนเด็กไทยดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว หลังพบภาวะเตี้ย 8.8%

สังคม
30 พ.ค. 62
16:49
1,386
Logo Thai PBS
ชวนเด็กไทยดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว หลังพบภาวะเตี้ย 8.8%
กรมอนามัย พบเด็กไทยยังมีภาวะเตี้ยร้อยละ 8.8 เร่งรณรงค์ดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว ควบคู่กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และนอนหลับให้เพียงพอ ตั้งเป้าลดเหลือร้อยละ 5

วันนี้ (30 พ.ค.2562) พ.ญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2562 พบว่า เด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 6-14 ปี มีภาวะเตี้ย ร้อยละ 8.8 ซึ่งเป้าหมายกำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ทำให้เป็นข้อบ่งชี้ถึงการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียนยังไม่ดีเท่าที่ควร คือ มีส่วนสูงน้อยกว่าเกณฑ์ในเด็กที่มีอายุเท่ากัน

กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2564 เด็กผู้ชายอายุ 12 ปี ควรมีส่วนสูงเฉลี่ย 154 เซนติเมตร แต่ปัจจุบันพบว่าค่าเฉลี่ยนยังอยู่ที่ 148.6 เซนติเมตร ส่วนเด็กผู้หญิง 12 ปี ต้องมีส่วนสูงเฉลี่ย 155 เซนติเมตร เพิ่มจากปัจจุบันที่พบว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 149.9 เซนติเมตร สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พบว่าการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียนได้ โดยเฉพาะการดื่มนมโครสจืด อย่างน้อยวันละ 2 แก้ว รับประทานไข่วันละ 1 ฟอง จัดกิจกรรมให้เด็กได้ออกกำลังกายกระโดดโลดเต้นวันละ 60 นาที และนอนหลับให้เพียงพอวันละ 9-11 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างร่างกายและทำให้ Growth hormones ที่ช่วยในการเจริญเติบโตเสริมสร้างร่างกายได้เป็นอย่างดี

 

ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ จะตรงกับวันดื่มนมโลก จึงอยากให้ผู้ปกครองสนับสนุนให้เด็กดื่มนมรสจืดอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว เนื่องจากในน้ำนมจะมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแคลเซียม ส่วนเด็กที่แพ้นมวัว สามารถดื่มนมที่ได้จากธัญพืช แต่ต้องรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากนมจากธัญพืชจะมีโปรตีนเป็นหลัก ส่วนแคลเซียมอาจมีไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต

นายวิเชียร ผลวัฒนสุข ประธานเครือข่ายนมดีทุกวัยดื่มได้ทุกวัน กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการดื่มนมของคนไทยประจำปี 2562 โดยสวนดุสิตโพล พบว่าปัจจุบันเยาวชนไทยอายุ 13-20 ปี มีการบริโภคนมลดลงกว่าครึ่งจากสัดส่วนร้อยละ 89 เหลือเพียงร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับเด็กวัยอนุบาลและประถมศึกษา ส่วนในกลุ่มผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไปนั้น พบว่ามีสัดส่วนที่ไม่ดื่มนมโคเลยถึง 1 ใน 4 จากผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจ โดยกลุ่มผู้ที่ไม่บริโภคนมโคนั้นหันไปดื่มนมถั่วเหลือง ร้อยละ 43 เครื่องดื่มกาแฟ ร้อยละ 22 และนมเปรี้ยว ร้อยละ 14 สาเหตุหลักเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการดื่มนม และความไม่มั่นใจในคุณภาพของน้ำนมโค ส่งผลให้อัตราการดื่มนมของคนไทยยังคงมีปริมาณน้อยมากเฉลี่ยเพียงคนละประมาณ 18 ลิตร/คน/ปี (หรือเพียงสัปดาห์ละ 2 แก้วเท่านั้น) สำหรับแนวคิดของการจัดตั้งเครือข่าย “นมดีทุกวัย ดื่มได้ทุกวัน” ในวันดื่มนมโลกในปีนี้ เพื่อรณรงค์ให้คนไทยทุกวัยดื่มนมโคเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 1-2 แก้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง