กรณี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4) ให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย) ลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ หากไม่ดำเนินการจะไม่สามารถใช้บริการได้
ศูนย์ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า เป็นระเบียบของ กสทช. โดยเจ้าของหมายเลขซิมการ์ดแบบจดทะเบียนรายเดือนและเติมเงินจะต้องนำบัตรประชาชนไปดำเนินการที่ศูนย์ให้บริการของค่ายมือถือ โดยจะมีการบันทึกบัตรประชาชนและใบหน้าเจ้าของซิมการ์ด เพื่อเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ของผู้ใช้ซิมการ์ด
การลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการที่เห็นว่า อาจเข้าข่ายการละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนในพื้นที่ เเละบางคนเห็นว่าควรสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อน
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้เเจงกรณี คำสั่งดังกล่าวเป็นประกาศ กสทช.ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา เเละประกาศเพิ่มเติมในวันที่ 21 มิ.ย. ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ หลังพบปัญหาการขโมยตัวตนและอัตลักษณ์ของบุคคลไปทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การแจ้งโทรศัพท์หายแล้วนำบัตรประชาชนไปซื้อซิมการ์ดตามเบอร์ของผู้อื่นแล้วนำทำธุรกรรมทางการเงิน
นอกจากนี้ยังพบว่า มีการนำซิมการ์ดจากประเทศเพื่อนบ้านและนอกพื้นที่มาก่อนเหตุ โดยเฉพาะเหตุระเบิดรูปปั้นเงือกทอง แหลมสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ซิมการ์ดที่นำจุดชนวนระเบิดถูกสั่งซื้อแค่ใช้อีเมล์ส่วนตัวโดย ครูโรงเรียนตาดีการายหนึ่งใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งรับสารภาพว่าได้สั่งซื้อโดยใช้อีเมล์ จำนวน 10 ซิม แล้วนำมาให้สามีก่อเหตุรุนแรง ยืนยันว่า การลงทะเบียนซิมจะเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชนทั่วไปไม่ให้ถูกขโมยตัวตน และแบ่งแยกผู้ก่อเหตุออกจากประชาชนผู้บริสุทธิ์
ทุกคนไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่จะต้องลงทะเบียนเช่นเดียวกัน โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ
ทั้งนี้การลงทะเบียนดังกล่าว กำหนดให้ผู้ใช้งานในสามจังหวัดลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 31 ต.ค. สำหรับผู้ที่อยู่นอกพื้นที่และต้องการเดินทางมาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเริ่มลงทะเบียนในวันที่ 1 พ.ย.นี้