จากกรณีผักและผลไม้จากจีนจำนวนมากถูกนำเข้ามาในไทย และวางจำหน่ายในตลาดหลายแห่ง เช่น ตลาดไท ตลาดไอยรา ตลาดสด รวมไปถึงรถเร่
วันที่ 8 ก.ค.62 รศ.อัทธ์ พิศาลวาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การนำเข้าผักและผลไม้จากจีนในตลาดอาเซียน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยเติบโตปีละร้อยละ 5-10 เนื่องจากข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างอาเซียนและจีน โดยส่งผลกระทบต่อราคาผักและผลไม้ไทย อาชีพเกษตกรไทย รวมไปถึงข้อกังวลว่าอาจจะมีสารตกค้าง ซึ่งไทยควรเตรียมตัวรับมือด้วยการจำกัดปริมาณการนำเข้า และเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพผักและผลไม้ ในลักษณะเดียวกับที่จีนเข้มงวดการนำเข้าจากไทย
ไทยต้องตรวจคุณภาพสินค้าจากจีน เช่นเดียวกับจีนตรวจทุเรียนไทยว่ามีสารปนเปื้อน ยาฆ่าแมลงหรือไม่
ขณะที่นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สามารถทบทวนข้อตกลงเอฟทีเอที่ทำไว้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าข้อตกลงดังกล่าวมีผลเสียมากกว่าผลดี
การทบทวนเป็นเงื่อนไขที่ทำได้ แต่ต้องมีการชดเชย ต้องดูน้ำหนักของผลกระทบว่าคุ้มหรือไม่
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงเอฟทีเอส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าผักและผลไม้จากไทยไปจีนขยายตัวก้าวกระโดด โดยในปี 2561 มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากปี 2545 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จีนจะยกเว้นภาษีให้ไทยถึงร้อยละ 1,312 และในช่วง 5 เดือนแรก ของปี 2562 สินค้าผักและผลไม้ไทยยังคงขยายไปตลาดจีนมากกว่านำเข้า สำหรับสินค้าผักส่งออกสำคัญ คือ มันสำปะหลัง พืชตระกูลถั่ว ผักแห้ง ส่วนผลไม้ไทยที่จีนนำเข้าสูงสุด 3 อันดับ คือ ทุเรียน ลำไย มังคุด
แท็กที่เกี่ยวข้อง: