อาจเป็นภาพที่สะเทือนใจของหลายคนที่พะยูนขนาดใหญ่กว่า 2 เมตรลอยตายกลางทะเลกระบี่ พบร่องรอยบริเวณปากของมันถูกตัดเขี้ยวออกไป แม้จะยังไม่รู้ถึงที่มาของความตาย แต่เหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติ
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง (ทช.) ยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตัดทิ้งประเด็นปัญหาการลักลอบล่าเขี้ยวพะยูน ไม่ตัดประเด็นสิ่งแวดล้อม ปัญหาสารพิษในน้ำ และอาจจะมาจากสัตว์ป่วยตายเอง แต่ทั้งหมดกำชับให้ทีมสัตวแพทย์ พิสูจน์หาสาเหตุการตายของพะยูนแต่ละตัวอย่างละเอียด เพื่อไขข้อสงสัยให้กับสังคม
เนื่องจากพบพะยูนตายถี่มากถึง 5 ตัว จำนวนนี้มีอีก 2 ตัวคือมาเรียม และยามีล ที่เกยตื้นและรอดทั้ง 2 ตัวเป็นลูกพะยูน ที่น่าเสียดายในจำนวนพะยูนที่ตายพ่อแม่พันธุ์ อายุ 70 ตัว ดั้งนั้นจึงต้องสืบสวนอย่างเป็นระบบ ครบทุกมิติ เพราะน่าแปลกใจที่เกิดในทะเลกระบี่ และตรัง
นายจตุพร กล่าวว่า โดยเรื่องนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแดล้อม (ทส.) มอบให้ลงไปดูข้อมูล และจะลงพื้นที่ด้วยตัวเองในวันที่ 18 ก.ค.นี้ รวมทั้งกำชับให้เฝ้าระวังเฝ้าระวังพื้นที่เป็นพิเศษ
ส่วนตัวไม่เชื่อว่ายังมีการล่าพะยูนโดยตรง พยายามมองมุมบวกว่าเจอพะยูนตายแล้วตัดเอาเขี้ยวไป เพราะในยุคที่กระแสอนุรักษ์จากพะยูนมาเรียม และยามีลไม่เชื่อว่าจะมีคนทำแบบนี้กับสัตว์ทะเลหายากได้ ทั้งหมดต้องสอบสวนหาความจริง

จตุพร บอกอีกว่า กรณีที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มล่าพะยูน และโลมาเพราะนำเขี้ยวพะยูน น้ำตาพะยูนไปทำคุณไสยหรือของขลัง ตอนนี้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ ยอมรับว่ายังไม่ชัดเจนว่าพะยูนตายก่อนถูกถอดเขี้ยวหรือไม่ แต่มีกรณีที่ชัดคือวาฬหัวทุย ที่ถูกตัดกรามออกไปทั้งแถบหลังจากลากขึ้นฝั่ง ซึ่งตอนนี้มีการแจ้งความไว้ เพราะเขี้ยวพะยูน ฟันกรามวาฬหัวทุย เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้ใดครอบครองมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
ความเชื่อในคนบางกลุ่มห้ามไม่ได้ แต่อย่าเอาความเชื่อมาทำลายทรัพย์สมบัติของประเทศ และของโลก สัตว์ทะเลหายาก พะยูน วาฬ มีความสำคัญมากกว่าการนำไปครอบครอง เหมือนคนบางกลุ่มที่อยากมีเขี้ยวเสือ ก็ไม่เห็นมีใครอยู่รอด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ผิดปกติ! พะยูนตายทะเลตรัง "ถูกถอดเขี้ยว" ทช.สั่งเฝ้าระวัง

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
หนุนแกะรอยพะยูนตายจากตรังสู่กระบี่
นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ตั้งข้อสังเกตกรณีนี้ว่า ยังไม่ชัดเจนถึงขั้นการล่าหรือไม่ แต่เมื่อมีพะยูน 2-3 ตัวเขี้ยวหายไป ต้องนำมาตั้งต้น นำสืบให้ชัดเจนว่ามีทีมล่าพะยูนที่กระบี่หรือไม่ ในอดีตเคยมีการแก้ปัญหาพะยูนตายที่ทะเลตรังสำเร็จ และนำมาสู่การอนุรักษ์พะยูนได้สำเร็จ
ความตายของพะยูนในระยะนี้โดยเฉพาะที่กระบี่ อยากให้นำบทเรียนของตรังมาใช้แก้ปัญหา ถ้าเป็นทีมล่าจริง เขาจะมีการฝังตัว มีเครื่องไม้เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งต้องติดตามในจุดเสี่ยงที่มีฝูงพะยูนตั้งแต่เกาะปู ศรีบอยา จนถึงเกาะลันตา เพื่อให้ทันกับปัญหา
นายมาโนช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมองว่าการที่เจอลูกพะยูนเกยตื้นอยู่บ่อยๆ ต้นเหตอาจมาจากการขยายพันธุ์ของกลุ่มพะยูนใหม่ที่ต้องการพื้นที่ เพราะพะยูนแต่ละกลุ่ม จะแยกกลุ่มกัน ประเด็นอาจจะต่อสู้กัน และแหล่งอาหารไม่เพียงพอ (homerange) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการพื้นที่แหล่งอาหารของพะยูนให้ได้

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ขณะที่การดูแลมาเรียม กับยามีล ลูกพะยูนทั้ง 2 ตัวจะต้องไม่ฝืนธรรมชาติของสัตว์ป่า เพื่อให้ทั้ง 2 ตัวอยู่รอดในทะเลได้ ซึ่่งเรื่องนี้เป็นองค์ความรู้ใหม่ เพราะยังไม่มีข้อมูลวงรอบ พฤติกรรมของพะยูนว่าการเรียนรู้และอาศัยในทะเลระหว่างกันได้สำเร็จ
งานวิจัยติดแท็กพะยูนที่ทำไปยังไม่ครบวงรอบ ไม่มีข้อมูลพฤติกรรมการอาศัยของพะยูนข้อมูลในช่วงมรสุม ทำได้ช่วงฤดูแล้ง ทำให้เสียโอกาสข้อมูลทางวิชาการที่จะรับรู้ และรับทราบถึงพฤติกรรมของพะยูนแต่ละช่วงว่าอาศัยที่ไหน เพราะการติดแท็กจะอยู่ที่ตัวพะยูนไม่เกิน 60 วัน ก็จะหลุดเอง
เขี้ยวพะยูนบ่งชี้อายุ
ขณะที่ข้อมูลของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ทช.รายงานว่า พะยูนมีอายุยืนยาวมากถึง 70 ปี การทำนายอายุของพะยูนต้องศึกษาจากเขี้ยวของพะยูน (เขี้ยวเป็นฟันชนิดหนึ่ง) ตลอดชีวิตพะยูนมีฟันกรามทั้งหมด 6 คู่ โดยจะทยอยขึ้น ต่อมาจะสึกกร่อน และหลุดไป
พะยูนที่อายุมากๆ มีฟันเหลืออยู่ในช่องปากเพียง 2-3 คู่เท่านั้น ฟันของพะยูนทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวหญ้าทะเล การบดเคี้ยวอาหารของลูกพะยูนไม่ดีเท่าพะยูนที่โตแล้ว เพราะฟันมีพื้นที่หน้าตัดน้อยกว่าพะยูนที่โตแล้ว นอกจากนี้ตั้งแต่แรกเกิดพะยูนยังมีฟันตัดบนส่วนหน้าของขากรรไกรบนอีก 2 คู่ หรือที่เราเรียกว่าเขี้ยวหรืองา โดยเขี้ยวคู่หน้าซึ่งมีขนาดเล็กจะสึกร่อนและหลุดไปเมื่ออายุ 12-15 ปีขึ้นไป

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เขี้ยวคู่หลังมีอยู่ตลอดชีวิตของพะยูน ดังนั้นเขี้ยวพะยูน จึงมีความสำคัญมากในการหาอายุของพะยูน เพราะเป็นฟันชนิดเดียวที่มีอยู่ตั้งแต่แรกเกิดและคงอยู่ตลอดชีวิต ในเพศผู้เขี้ยวงอกพ้นผนังริมฝีปากออกมาเล็กน้อยเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สันนิษฐานกันว่าพะยูนตัวผู้ ใช้เขี้ยวในการต่อสู้แย่งตัวเมียหรือยึดเกาะตัวเมียในขณะผสมพันธุ์ และมีหลักฐานบ่งชี้การต่อสู้ คือรอยแผลเป็นตื้นๆเป็นคู่ๆ ที่ปรากฏบนหลังพะยูน ซึ่งระยะห่างของแผลใกล้เคียงหรือเท่ากับระยะห่างระหว่างเขี้ยวทั้งสองข้างของพะยูน โดยเขี้ยวพะยูนยาวสุด 6-7 นิ้ว
2 สัปดาห์พะยูนตายทะเลกระบี่-ตรัง 5 ตัว
สำหรับพะยูน เป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยภายใต้พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นสัตว์น้ำชนิดแรกของประเทศไทยที่ถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน ปัจจุบันมีรายงานจำนวนประชากรประมาณ 200 ตัวกระจายในเขตจ.กระบี่ และตรังมากกว่า 200 ตัว ขณะที่ข้อมูลจากกรมทะเลและชายฝั่งรายงานว่าในช่วง 4 เดือนนี้พบพะยูนเกยตื้น ยังมีชีวิต 2 ตัวคือมาเรียม และยามีล ส่วนอีก 5 ตัวตายผิดปกติ ถูกถอดเขี้ยวออกไป และเป็นพะยูนขนาดใหญ่ ดังนี้
- 26 เม.ย. 62 พะยูนมาเรียม เกยตื้นที่ชายหาดบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่
- 27 มิ.ย.62 ลูกพะยูนตัวผู้อายุไม่ถึง 3 เดือนตาย บริเวณเกาะเม็ง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง
- 1 ก.ค.62 ลูกพะยูนยามีล อายุ 3 เดือนเกยตื้นชายหาดบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ในสภาพอ่อนแรง ตามลำตัวเต็มไปด้วยรอยแผล
- 5 ก.ค.62 พะยูนตัวผู้ 70 ปีตาย ความยาวเกือบ 3 เมตรบริเวณอ่าวสิเกา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา คาดว่าตายมาแล้ว 4-5 วัน มีความผิดปกติถูกถอดเขี้ยว
- 12 ก.ค.62 พะยูนตัวผู้ บริเวณบ้านคลองนิน เกาะลันตาใหญ่ จ.กระบี่ ถูกตัดเขี้ยว
- 14 ก.ค.62 พะยูนตัวผู้ ความยาว 2.30 เมตร หนัก 400 กิโลกรัม ไม่พบบาดแผลที่ลำตัว เจอใกล้เกาะปู อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
- 14 ก.ค.62 พะยูนอายุ 6 เดือน ความยาว 1.20 เมตร ลอยตายในทะเลชีวิตที่บริเวณแหลมจูโหยกับเกาะนก จ.ตรัง ตายมาแล้วประมาณ 2 วัน สภาพลูกพะยูนมีอวัยวะครบถ้วน

เฟซบุ๊ก : kongkiat kittiwatanawong
เฟซบุ๊ก : kongkiat kittiwatanawong
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พบพะยูนตายเพิ่ม 2 ตัว เร่งหาสาเหตุ
สูญเสีย! "พะยูน" อายุ 70 ปีทะเลตรัง ตายตัวที่ 7
แท็กที่เกี่ยวข้อง: