วันนี้ (1 ส.ค. 2562) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงความคืบหน้า การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ภายในงาน “Medical Cannabis in Thailand” ว่า ตามที่คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ได้อนุญาตให้องค์การเภสัชกรรมปลูกกัญชาทางการแพทย์ สำหรับเป็นวัตถุดิบนำมาสกัดเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น สำหรับนำไปใช้ในการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย
สำหรับการดำเนินการในระยะที่ 1 จะเน้นการศึกษาวิจัย และผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชาให้สอดรับกับการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ป่วย โดยดำเนินการปลูกและผลิตสารสกัดกัญชาเป็นเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ คำนึงถึงความปลอดภัย มีสารสกัดที่มีสารออกฤทธิ์ยาใกล้เคียงกัน และต้องมีประสิทธิภาพ มีการควบคุมมาตรฐานการปลูกตาม GAP (Good Agricultural Practice) รวมถึงมีปริมาณสัดส่วนของสารสำคัญที่ใช้ในการออกฤทธิ์ คือ THC และ CBD เป็นไปตามสัดส่วนความต้องการใช้ของแพทย์ในแต่ละโรคที่ทำการวิจัย และที่สำคัญต้องไม่มีการปนเปื้อนโลหะหนักและยาปราบศัตรูพืช

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม
ขณะนี้ โจทย์ใหญ่ของไทย คือ การปลูกกัญชาให้เป็น เลี้ยงให้รอด และได้คุณภาพดี ซึ่งกระบวนการปลูก ต้องปราศจากเชื้อรา โรคราก และโรคที่มากับความชื้น ต้องถ่ายทอดองค์ความรู้สู่วิสาหกิจชุมชน เพื่อขยายพื้นที่การปลูก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ คณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ อยู่ระหว่างการพิจารณา ปลดล็อก สาร CBD ไม่ใช่สารเสพติด ซึ่งก็จะทำให้สามารถมีการใช้สารสกัดชนิดนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย และไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ในการเข้าถึง เกิดการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สกัดมาจากสารชนิดนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ครีมบำรุงผิว ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า วันที่ 7 ส.ค. นี้ จะมีการส่งมอบสารสกัดกัญชาเพื่อการแพทย์ รอบแรก 4,500 ขวด ให้กับสถานพยาบาลที่มีการขออนุญาตจำหน่าย และต้องมีแพทย์เชี่ยวชาญที่ได้รับอนุญาตในการรักษาผู้ป่วยด้วยสารสกัดกัญชา เบื้องต้น จะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดสาธารณสุข ให้ทุกจังหวัด ทุกเขต ต้องมีสารสกัดกัญชาทางการแพทย์แจกจ่ายผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะต้องเข้าเงื่อนไขตามเกณฑ์ที่แพทย์บ่งชี้ว่าจำเป็นต้องรักษาด้วยสารสกัดกัญชา
เสนอเร่งนำสารสกัดกัญชาใต้ดินเข้าสู่ระบบ
ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่าสารสกัดกัญชา 4,500 ขวด เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มีการใช้อยู่ในขณะนี้ หรือที่ต้องการเข้าถึง มีสัดส่วนที่ต่างกันมาก หากมีการแจกจ่ายเบื้องต้น ก็อาจกระทบต่อการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง จึงเสนอว่า ควรให้ผู้ผลิตรายเดิมที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย หรือที่เรียกว่า สารสกัดกัญชาใต้ดิน เข้าสู่ระบบทั้งหมด วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น และที่สำคัญยังเป็นโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้ใช้ยาถูกวิธี ซึ่งมีความสำคัญมาก
สำหรับ ผู้ป่วยใน 3 กลุ่มโรค ที่จะสามารถเข้าถึงยาตามสถานพยาบาลอย่างถูกกฎหมาย คือ
กลุ่มที่ 1 โรคหรือภาวะที่สารสกัดจากกัญชาได้ประโยชน์ เช่น โรคลมชักที่รักษายาก โรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะคลื่นไส้จากการรักษาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล
กลุ่มที่ 2 โรคหรือภาวะที่สารสกัดกัญชาน่าจะมีประโยชน์ในการควบคุมอาการของโรค เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
กลุ่มที่ 3 โรคหรือภาวะที่สารสกัดกัญชาอาจได้ประโยชน์ในอนาคต อยู่ในขั้นการศึกษาในหลอดทดลองหรือสัตว์ทดลอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาคประชาชน ถามผลิตน้ำมันกัญชา 1 ล้านขวด เพื่อภารกิจอะไร
"อนุทิน" ตั้งเป้าครึ่งปีผลิตสารสกัดจากกัญชา 1 ล้านขวด
จ่อผลักดัน "กัญชง" สู่ตลาดการบริโภค
อย.ยังไม่รับรองตำรับยา "เดชา" เหตุยังไม่ได้รับรองเป็นหมอพื้นบ้าน