วันนี้ (1 ส.ค.2562) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประฐานเปิดงาน Good Day Say No Pastic Bag On The Beach "ดูแลโลกเพื่อให้โลก...ดูแลเราตลอดไป" ที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม บริเวณหาดเจ้าสำราญ อ.เมืองเพชรบุรี พร้อมลงพื้นที่เก็บขยะริมชายหาดร่วมกับดารานักแสดงเครือข่ายจิตอาสาและประชาชนในพื้นที่กว่า 500 คน และมอบรางวัลให้กับทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันเก็บขยะชายหาด
นายวราวุธ ระบุว่า หัวใจสำคัญในการรักษาชายหาดและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่กิจกรรมการเก็บขยะในวันนี้ แต่คือการสร้างจิตสำนึกของทุกคน ให้ร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ ยั่งยืนไปสู่ลูกหลานในอนาคตโดยหาดเจ้าสำราญ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลหาดเจ้าสำราญเป็นหาดทรายขาว มีระยะทางยาวประมาณ 7 กิโลเมตร จะเป็นต้นแบบให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทั่วไทยได้
หัวใจสำคัญ คือ การบริหารจัดการขยะด้วยชุมชน เพราะคนจะทิ้ง เก็บเท่าไหร่ก็ไม่หมด ดังนั้น การสร้างจิตสำนึกให้กับคนในชุมชนเพื่อให้ทุกคนร่วมกันดูแลความสะอาดและรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่ได้ยาวนานที่สุด
นายวราวุธ ย้ำว่า การรณรงค์ในเรื่องขยะพลาสติกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั่วโลกตื่นตัวด้านนี้ โดยนโยบายเกี่ยวกับขยะพลาสติกของรัฐบาลก่อนนั้น ส่วนไหนดีก็ต้องสานต่อ วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีหลังการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุด ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในอาเซียนต้องเริ่มดำเนินการลดขยะทะเลอย่างยั่งยืน
ลดขยะทะเล เริ่มต้นที่ตัวเรา
ด้านเจษฎ์พิพัฒ ติละพรพัฒน์ นักแสดงดัง หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะชายหาด ระบุว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มาร่วมกิจกรรมนี้ เพราะอย่างน้อยการที่ได้มาช่วยเก็บขยะก็จะช่วยลดขยะทะเลบริเวณหาดเจ้าสำราญได้มาก และคิดว่าทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ก็จะมีจิตสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วไปบอกต่อเพื่อนๆ ให้เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับขยะพลาสติก เพื่อช่วยกันลดการใช้ขยะเหล่านี้
ตอนนี้มันเป็นวิกฤตของโลกแล้ว เพราะเราใช้สิ่งนี้จนเคยชิน แล้วไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา แต่วันนี้ทุกคนทั่วโลกเริ่มรู้แล้วว่ามันเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป ดังนั้นเราควรเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
เจษฎ์พิพัฒ ระบุว่า ส่วนตัวพยายามลดขยะพลาสติกอยู่เสมอ โดยเริ่มจากอะไรใกล้ๆ ตัว เช่น ไม่ใช้หลอดพลาสติก ปกติจะดื่มน้ำจากแก้วโดยตรง เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้หลอด และจะพยายามใส่สิ่งของที่ซื้อจากซูเปอร์มาเก็ตในถุงเดียวเพื่อลดขยะจากถุงพลาสติก
เราทำหนึ่งคนมันก็ลดไปหลายถุงแล้ว ถ้าเราทำหลายคนมันก็จะช่วยลดได้มาก และผมพยายามจะบอกคนรอบข้างเสมอว่ามันอันตรายอย่างไร เพื่อให้เขาเปลี่ยนความคิดแล้วบอกต่อเป็นลูกโซ่ระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ น.ส.พัชนี จินดา นักศึกษาคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร สาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี หนึ่งในเยาวชนอาสาผู้เข้าร่วมเก็บขยะชายหาด ระบุว่า เป็นโครงการที่อาจารย์ได้หาอาสาสมัครมาร่วมเก็บขยะ เนื่องจากได้เห็นปัญหาขยะทะเลที่ทำลายชีวิตสัตว์ทะเล จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดขยะลงบ้าง แม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ลงมือทำ แต่อาจเป็นส่วนที่ช่วยผลักดันให้คนอื่นทำต่อ หรืออาจไปรณรงค์ต่อในมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ขยะทะเลก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม กระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งยังเกิดอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับบาดเจ็บและตายจากการกินขยะพลาสติกทั้งเต่า พะยูน วาฬ โลมาที่ต่างตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในปี 2560 พบปริมาณขยะมูลฝอยในจังหวัดชายฝั่งทะล 2 จังหวัดมากถึง 114 ล้านตัน กำจัดอย่างถูกต้อง 68 ล้านตัน นำไปใช้ประโยชน์ 3.02 ล้านตันและกำจัดไม่ถูกต้อง 155 ล้านตัน ซึ่งบางส่วนไหลลงสู่ทะเลประมาณ 50,000 - 60,000 ตันต่อปี โดยถุงพลาสติกเป็นขยะทะเลที่พบมากที่สุด ประเมินได้ส่าแต่ละปีจะมีปริมาณขยะพลาสติกในทะเลประมาณ 60,000 ตันหรือ 35 ล้านชิ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เพชรบุรีนำร่อง เปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ