"ศรีสุวรรณ" ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลปม “ประยุทธ์” ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ

การเมือง
5 ส.ค. 62
11:50
1,356
Logo Thai PBS
"ศรีสุวรรณ" ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลปม “ประยุทธ์” ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ
ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ อาจทำให้รัฐบาลเป็นโมฆะ

วันนี้ (5 ส.ค.62) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 และ มาตรา231 เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยกล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วน บางถ้อยคำขาดหายไป แต่กลับมีบางถ้อยคำเพิ่มขึ้นมา ซึ่งไม่ตรงกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 161 ซึ่งถ้อยคำที่ไม่ยอมกล่าวคำถวายสัตย์ฯ คือคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ซึ่งถ้อยคำนี้ถือว่าสำคัญมาก

สะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคารพและให้ความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญ ที่ตัวเองทำคลอดมากับมือ และอาจไม่ยอมปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ไม่ได้กล่าวถวายสัตย์ไว้ ซึ่งจะมีผลทางกฎหมายในการใช้สิทธิทางศาลในอนาคตได้

ชี้เสี่ยงรัฐบาลเป็นโมฆะ

นายศรีสุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ถือได้ว่าเป็นการตบหน้าคนไทยทั้ง 16 ล้านคน ที่ไปลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อีกทั้งเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศด้วย แม้หลายฝ่ายและสังคมไทยท้วงติงแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับ หรือการยอมรับผิดชอบต่อการกระทำแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ถ้อยคำที่คณะรัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ฯ ให้ครบ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดไว้ตายตัวตามรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าเป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของการถวายสัตย์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี กลับกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน อาจมีผลกระทบทางการเมืองอย่างรุนแรง ถึงขั้นทำให้รัฐบาลเป็นโมฆะ อาจทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่มีผลทางกฎหมายได้ เพราะถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญญัติ มาตรา 53 ในหมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐด้วย

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องหาความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว โดยนำความมาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 230 และ มาตรา 231 เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการวินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็วต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง