วันนี้( 14 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 1.50 ต่อปี ไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ต่อมา ธนาคารกสิกรไทยได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นรายแรกและตามมาด้วยธนาคารกรุงไทย
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทลูกค้ารายใหญชั้นดี (MOR) และสินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลงร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งลูกค้ารายย่อยให้ประคองตัวและฟื้นตัวจากผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.2562 เป็นต้นไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย MOR และ MRR ของธนาคารเหลือร้อยละ 6.87 ต่อปี
ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจ SME ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเผชิญกับภาวะความผันผวนของค่าเงินและสงครามการค้า พร้อมทั้งตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย
ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทลูกค้ารายใหญชั้นดี (MOR) และลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลดลงร้อยละ 0.25 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 7.12 ต่อปี เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสนับสนุนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.2562 เป็นต้นไป
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
วันเดียวกันธนาคารกรุงเทพ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มโออาร์ และ เอ็มอาร์อาร์ลง ร้อยละ 0.25 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เช่นกัน
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) ลง ร้อยละ 0.25 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562
โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสองประเภทในครั้งนี้ นับเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี ในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
ขณะที่ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำตลาดปรับอัตราดอกเบี้ยแต่ก็พิจารณาอัตราดอกเบี้ยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์อื่น ๆ ด้วย
ด้านธนาคารพาณิชย์ของรัฐและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ยังไม่ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม กนง.โดยนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เตรียมประชุมบอร์ดธนาคาร วันที่ 20 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่พร้อมระบุว่า แม้ธนาคารมีสภาพคล่องสูงแต่ธนาคารได้ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ตามมติ กนง.คราวก่อน แต่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธนาคารมีต้นทุนเงินฝากในระดับสูงที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี จึงจำเป็นต้องพิจารณาต้นทุนเงินฝากและเงินกู้ที่มีอยู่ควบคู่กับทิศทางดอกเบี้ย และคู่แข่งในตลาดด้วย
ขณะที่นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เปิดเผยว่า ขณะนี้ แบงก์รัฐอยู่ระหว่างประชุมหารือถึงทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ร้อยละ 0.25 ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า หรือเร็วที่สุด คือ วันที่ 21 สิงหาคมนี้
สำหรับปัจจัยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธอส. นั้น จะประเมินจากอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัยในตลาด และลดภาระให้กับลูกค้า เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยของธอส. ต่ำสุดในตลาดอยู่แล้ว ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปรับลดลงประมาณ 2 สตางค์ อยู่ที่ ร้อยละ 0.125 หรือ 0.25