วันนี้ (17 ส.ค.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาณ์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า กรณีพบถุงพลาสติกในท้องมาเรียม พะยูนน้อยที่เกาะลิบงที่ ถือเป็นเรื่องช็อกในวงการสัตว์ทะเลหายาก เพราะไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ามาเรียมที่เจ็บป่วยส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากกินขยะ หรือมีเศษถุงพลาสติกอุดตันในท้องจนกระทั่งแสดงอาการ และตายลง
ถือว่าเป็นเรื่องน่าเศร้ามาเรียมเป็นสัตว์สงวนตัวที่ 2 ที่ตายและพบพลาสติกในท้อง หลังจากเมื่อเดือนก.ค.เคยเจอเต่ามะเฟืองตายที่ จ.ระยอง และมีถุงใบใหญ่อยู่ในท้องเช่นกัน
ดร.ธรณ์ ระบุว่า ในรอบปีนี้ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจว่ามีเต่าทะเล และสัตว์ทะเลที่พบติดอวนทะเล บางตัวมีคนช่วยรอดตาย บางตัวไม่รอด ขณะที่การณรงค์การใช้ถุงพลาสติกยังคงทำต่อเนื่องกระทั่งสามารถลดได้ประมาณ 100 ล้านใบจากขยะพลาสติกที่มีการใช้งาน 45,000 ล้านใบ
เคยมีเคสวาฬนำร่องครีบสั้นตายจากการกินถุงพลาสติกแล้วในท้อง 85 ชิ้น แต่จนถึงปีนี้ยังมีสัตว์ทะเลที่ตายปีละ 10 กว่าตัวจากการกินขยะ และติดอวน แสดงว่าการรณรงค์อย่างเดียวคงไม่ได้ผล และมาเรียมควรเป็นเหยื่อตัวสุดท้ายจากปัญหาขยะทะเล
หนุนเก็บภาษีถุงพลาสติก-แบนถุงพลาสติก
นักวิชาการ กล่าวอีกว่า จากการเก็บข้อมูลขยะที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงาในปี 2561 มีขยะ 82 ตัน ส่วนปีนี้เพียง 10 เดือนมีสถิติ 95 ตัน ดังนั้นไม่มีคำตอบอื่นๆที่จะสรุปว่าที่เราทำทั้งหมดยังไม่พอแม้จะลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 100 ล้านใบจาก 45,000 ล้านใบ
นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีโรดแมปว่าด้วยเรื่องขยะทะเลแห่งชาติแล้ว วางแผนที่จะลดการใช้ถุงพลาสติกหลอดพลาสติกที่ใช้แบบครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2565 ซึ่งมองว่าอย่างช้าไป แต่ควรจะเริ่มต้นทันทีตั้งแต่ปี 2563 โดยเริ่มต้นจากการเก็บค่าใช้ถุงพลาสติก และแบนการใช้ถุงพลาสติกอย่างสิ้นเชิง ซึ่งล่าสุดประเทศนิวซีแลนด์ ก็แบนถุงพลาสติกเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ทางคณะทำงานจะมีการประชุมพิจารณาจัดทำแผนพะยูนแห่งชาติ โดยแผนนี้เดิมมาจากการที่มีมาเรียมเป็นโมเดล และจะเน้นการคุ้มครองพะยูน การจัดการพื้นที่แหล่งหญ้าและบ้านของพะยูน รวมทั้งข้อเสนอในการเลือกเครื่องมือประมงบางชนิด
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ค. เคยมีเต่ามะเฟืองขนาดใหญ่ตายที่ จ.ระยอง โดยผลชันสูตร พบขยะพลาสติกจำนวน 9 ชิ้น เป็นถุงพลาสติกเต็มใบ 2 ถุง ปากถุงขนาดใหญ่ 1 ชิ้น ถุงพลาสติกหุ้มขนมปัง 1 ชิ้น และเศษถุงพลาสติกอีก 5 ชิ้น นอกจากนี้ ยังมีแมงกะพรุนในหลอดอาหารจำนวนหนึ่งอุดตันบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น แต่ไม่พบอาหารและอุจจาระเลยตลอดทางเดินอาหาร แสดงว่าเต่าไม่กินอาหารมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะเป็นผลกระทบที่ได้รับจากขยะในทะเล หรือเป็นเหตุให้เต่ามะเฟืองกินขยะพลาสติก จากนั้น เจ้าหน้าที่ ทช. จึงทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ และตัวอย่างเนื้อเยื่อผิวหนังเพื่อตรวจสอบพันธุกรรมต่อ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตะลึง! เจอถุงพลาสติก 9 ชิ้นเต่ามะเฟืองถูกใบพัดตาย