ความน่ารักของ "มาเรียม" ทำให้พะยูนน้อยแห่งเกาะลิบงกลายเป็นขวัญใจในโลกโซเชียล จุดกระแสความสนใจต่อสถานการณ์การรอดชีวิตของพะยูน หากเมื่อ "มาเรียม" จากไปด้วยเหตุผลสำคัญจากขยะพลาสติก ทำให้ช่างภาพที่ใช้เวลาคลุกคลี ถ่ายภาพไวรัลมาเรียมจนโด่งดังระดับนานาชาติ "ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย" มีมุมมองต่อการรณรงค์เรื่องขยะในทะเล และหวังให้กรณีมาเรียมเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
ขอชีวิต “มาเรียม” ไม่สูญเปล่า
หวังว่าการตายของมาเรียมไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น เป็นเสียงเรียกให้เราออกมาเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง
“ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย” เป็นอดีตนักวิจัยทางทะเล ที่ทำงานเป็นช่างภาพสารคดี ถ่ายภาพท้องทะเลมานานถึง 7 ปี เขาถือได้ว่าเป็นช่างภาพคนหนึ่งที่มีโอกาสใกล้ชิด “มาเรียม” ที่สุด เพราะอาสา “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” ไปทำหน้าที่บันทึกทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ตั้งแต่รู้ข่าวมาเรียมช่วงแรกๆ จนได้ภาพไวรัล “มาเรียมในอ้อมกอดเจ้าหน้าที่” ซึ่งเป็นภาพดังระดับนานาชาติ ติดอันดับ The 20 photographs of the week ของ The Guardian มาแล้ว
คุณชินบอกว่า ภาพที่เคยถ่ายสมัยก่อนมีแต่ผลงานหนักๆ สื่อสารตรงๆ ถึงสัตว์ที่ต้องตายจากการคุกคามของมนุษย์ แต่เมื่อได้มาถ่ายภาพมาเรียมก็ปรับโหมดเน้นความน่ารัก เพราะอยากให้สื่อถึง "ความหวังในการอนุรักษ์"
นอกจากนี้ มาเรียมยังต่างไปจากพะยูนอื่นๆ เพราะจากประสบการณ์ช่างภาพสารคดีอาชีพ ทำให้คุณชินรู้ว่าพะยูนขี้กลัว ถ่ายภาพได้ยากมาก แต่มาเรียมกลับไม่ตื่นคน เพราะกำพร้าแม่ ต้องปรับตัวให้คุ้นกับคนเพื่อให้มีชีวิตรอด นี่สะท้อนว่าพะยูนต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และเมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิต ที่มาเรียมต้องตายไปพร้อมเศษขยะพลาสติกอุดตันลำไส้ นี่ยิ่งบอกชัดว่า ข้อมูลเรื่องทะเลไทยติดอันดับขยะล้นระดับโลกไม่ใช่เรื่องเกินจริง และมาจากฝีมือมนุษย์ล้วนๆ
ในฐานะช่างภาพสารคดี เรื่องราวของมาเรียมจึงเป็นทั้งบทเรียนและแรงผลักดัน ให้อยากใช้งานศิลปะสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องขยะพลาสติกและสิ่งแวดล้อม
การถ่ายภาพอนุรักษ์ คือเราต้องเล่าเรื่องของความสวยงามที่คนหลายคนที่ไม่ได้เห็น ให้เค้าได้เห็น ให้เค้าหลงรัก แต่เราต้องเล่าเรื่องปัญหาของมันด้วยว่าอะไรเกิดขึ้นอยู่ แล้วภาพพวกนี้มันทำให้คนสนใจ แล้วสามารถทำให้ถึงจุดเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือเปล่า
ภาพถ่ายมาเรียมของ ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
มันไม่ใช่แค่ว่า ภาพออกไป คนสนใจ แล้วก็จบมานั่งรู้สึกภูมิใจ ไม่ใช่ เราต้องออกไปหาเรื่องอื่นต่อ ทำให้คนสนใจต่อ มันมีเรื่องอีกมากมายที่คนต้องรับรู้
ภาพจาก FACEBOOK ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ขณะกำลังถ่ายภาพซากวาฬ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่
ต้นตอของขยะในทะเลไทย
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก มากถึง 1 ล้านตันต่อปี โดยขยะในทะเลส่วนใหญ่มาจากแหล่งท่องเที่ยว เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม เป็นต้น รองมาคือขยะจากการทำการประมง เช่น อวน เชือก เป็นต้น แต่ขยะในทะเลก็ไม่ได้เกิดจากการท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมไปถึงขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นจากบุคคล ครัวเรือน อุตสาหกรรม ขยะเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะถูกปล่อยลงแหล่งน้ำต่างๆ จากลำคลอง สู่แม่น้ำ ท้ายที่สุดก็ลงสู่ท้องทะเล สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเรายังขาดการจัดการขยะอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
ภาพมาเรียมผลงาน “ชิน ศิรชัย” ที่ติดอันดับ The 20 photographs of the week ของ The Guardian
https://www.theguardian.com/artanddesign/gallery/2019/jul/06/the-20-photographs-of-the-week?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR0oAdyuo3BQuKHr2ODStG6XoMPJgFJ2h4vv_7yiGVv7mqTTMgRZ1TtLzmA