"ดีเอสไอ" ชง 3 ประเด็นคดีเหมืองทองพิจิตร ให้ ป.ป.ช.

สิ่งแวดล้อม
19 ส.ค. 62
19:57
1,797
Logo Thai PBS
"ดีเอสไอ" ชง 3 ประเด็นคดีเหมืองทองพิจิตร ให้ ป.ป.ช.
ดีเอสไอสรุป 3 สำนวนคดีเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ประกอบกิจการไม่ได้รับอนุญาต - เปลี่ยนผัง และทำ EIA ไม่ถูกต้อง พบ ขรก.-จนท.รัฐเกี่ยวข้อง ด้านภาคประชาสังคม จี้ "สุริยะ-วิษณุ" ยกเลิกนโยบายเหมืองแร่ทองคำ หวั่นผลประโยชน์แอบแฝง ไฟเขียวสัมปทานแลกถอนฟ้องรัฐบาลไทย

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยกับไทยพีบีเอสเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนในความรับผิดชอบของดีเอสไอเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของบริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร, เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก โดย พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ข้อเท็จจริงในส่วนที่ดีเอสไอรับผิดชอบ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว โดยสำนวนการสอบสวนแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ คดีกลุ่มหลักที่พบว่ามีส่วนที่เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง เรื่องที่ดำเนินกิจการผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ , ผิด พ.ร.บ.ทางหลวง ซึ่งการตรวจสอบดีเอสไอพบว่า มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกระบวนการดังกล่าว และได้ส่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2561 ส่วนประเด็นที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ดีเอสไอส่งให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 

หลังจากสอบสวนคดีข้างต้นแล้ว ดีเอสไอ ได้สอบสวนขยายผลต่อไป จนเราพบประเด็นเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น ทั้งการขยายโรงประกอบโลหะกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, การเปลี่ยนแปลงผังประกอบกิจการทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (อีไอเอ) ที่ไม่ถูกต้องด้วย ประเด็นเหล่านี้ ดีเอสไอพบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง และมีเอกชนสนับสนุน โดยดีเอสไอได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือทุจริตต่อหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการอนุญาตต่าง ๆ ก็จะมีในส่วนที่เอกชนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

 

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวด้วยว่า การตรวจสอบในความรับผิดชอบของดีเอสไอนั้นทางพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ ได้แจ้งให้ทราบว่า ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนของดีเอสไอจะส่งต่อให้ตัวแทนรัฐบาลไทย ที่อยู่ระหว่างการตั้งคณะเจรจาเพื่อต่อสู้ข้อพิพาทกับบริษัทเหมืองแร่ทองคำ ก่อนจะเริ่มนัดไต่สวนครั้งแรกในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งดีเอสไอดำเนินการเต็มที่และคณะทำงานของดีเอสไอและตัวแทนคณะทำงานของรัฐบาล ประสานการต่อเนื่อง 

 

 

ขณะที่วันนี้ ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร และภาคประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ และ น.ส.อารมณ์ คำจริง ในฐานะกลุ่มที่ยื่นร้องเรียนให้ตรวจสอบประเด็นเหมืองแร่ทองคำ เดินทางไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) วันนี้อีกครั้ง เพื่อติดตามเรื่องร้องเรียนที่ยื่นไว้เกือบ 20 ประเด็นในช่วง 4 ปี มานี้ โดย พ.ต.ต.วรณัน ได้ชี้แจงให้รับทราบทางวาจา แต่ทางกลุ่มภาคประชาสังคม ต้องการให้ชี้แจงเป็นเอกสารทางการภายใน 15 วัน ซึ่งทาง พ.ต.ต.วรณัน แจ้งว่า จะชี้แจงเป็นเอกสารตอบกลับผู้ร้องเรียนให้ทราบโดยเร็ว แต่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้   

 

หลังจากนั้น กลุ่มชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ และภาคประชาสังคมฯ ได้เดินทางไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากรับทราบท่าทีของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ผ่านการแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า บริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด สามารถเดินหน้าประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำได้ โดยไม่ต้องทำเรื่องขอใหม่ ตามสิทธิ์ที่มีใบอนุญาติเดิม ซึ่งชาวบ้านและภาคประชาสังคมฯ ขอให้ทบทวนนโยบาย เพราะปัญหาเก่าที่ร้องเรียนยังไม่ถูกแก้ปัญหา และบริษัทอัคราฯ กำลังถูกตรวจสอบเกี่ยวก้บการประกอบกิจการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จาก ดีเอสไอ และ ป.ป.ช.พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้อง 5 ประเด็นให้ รมว.อุตสาหกรรม และ อธิบดี กพร.ตรวจสอบ ในฐานะผู้รับผิดชอบออกใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำให้บริษัทโดยตรง ได้แก่

 

1. ขอให้เร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ดำเนินคดีเอาผิดกับบริษัทอัคราฯ หรือ บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด จำกัด (บริษัทแม่ ของบริษัท อัคราฯ) 
 
2. ขอให้เร่งดำเนินการเรียกทรัพย์สิน จากการขุดถนนทางหลวงและทางสาธารณประโยชน์เอาสินแร่ทองคำและสินแร่เงินไปโดยผิดกฎหมาย และตรวจสอบกรณีรายงานของบริษัทคิงเกต ที่พบว่ามีปริมาณทองคำมากกว่าที่รายงานไว้ในประเทศไทยอีกกว่า 100 ตัน เพื่อให้ติดตามตรวจสอบและเรียกทรัพย์สินคืนมาให้กับประเทศไทย 

3. ขอให้ยกเลิกเพิกถอนประทานบัตรบริษัทอัคราฯ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติแร่ และทำผิดเงื่อนไขท้ายประทานบัตร 

4. ขอให้ชี้แจงต่อกรณีการให้สัมภาษณ์กับกลุ่มผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2562 ว่ามีข้อเท็จจริงและหลักฐานใด ในการอ้างว่าบริษัทอัคราได้รับอนุญาตในการขุดถนนทางหลวงและทางสาธารณประโยชน์ โดยอ้างมติ คณะกรรมการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ปี พ.ศ.2560 ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร จึงอนุญาตให้บริษัทอัคราฯ มีสิทธิ์เดินหน้าเหมืองทองคำ 

5. ประชาชนขอคัดค้านการทำเหมืองทองคำในประเทศไทย และคัดค้านนโยบายทองคำ 12 จังหวัด เนื่องจากประชาชนจำนวน 27,522 รายชื่อ ได้ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญยื่นคัดค้านไว้ ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.2558

 

นางวันเพ็ญ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่กระทรวงอุตสาหกรรมไฟเขียวเดินหน้านโยบายเหมืองแร่ทองคำทำให้เห็นว่ารัฐมนตรีและอธิบดีมีความตั้งใจเดินหน้าเหมืองแร่ทองคำชัดเจนแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของคนไทย เตรียมยกระดับคัดค้านเพราะกลุ่มประชาชนเคยคัดค้านไว้ก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงอาจทำให้รัฐเสียประโยชน์ และเสียค่าโง่คดีเหมืองทองคำ  

 

 

การให้มีแนวทางเดินหน้า การที่ท่านเป็นรัฐมนตรี เป็นอธิบดี จะใช้อำนาจหน้าที่ของท่านในการดำเนินการเหมืองทองคำให้เดินหน้า วันนี้ท่านถามประชาชนหรือยังว่าต้องการเหมืองทองคำหรือไม่ ที่สำคัญ ตาม ม.44 ปี 2559 ได้สั่งให้ กพร.กำชับให้ กพร.กำกับดูแลการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำ แต่จนถึงวันนี้เดือน ส.ค.ปี 2562 แล้ว เรายังไม่เห็นท่านกำกับให้ฟื้นฟูแต่อย่างใด เป็นการละเว้นการกำกับ และขัดคำสั่ง คสช.ด้วย ซึ่งการที่อธิบดีให้สัมภาษณ์ลักษณะนี้อาจเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเหมืองแร่ทองคำซึ่งถ้าประชาชน 5 จังหวัดที่เดินทางมาขอคำตอบแล้วยังไม่ได้ความชัดเจน ประชาชน 12 จังหวัด ตามนโยบายสำรวจแร่ทองคำจะยกระดับแน่นอน เพราะนี่คือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นครั้งใหญ่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง