ส.ว.ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล "สารพิษตกค้างผักผลไม้-ภัยแล้ง"

การเมือง
2 ก.ย. 62
15:11
317
Logo Thai PBS
ส.ว.ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล "สารพิษตกค้างผักผลไม้-ภัยแล้ง"
วุฒิสภาตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีครั้งแรก "มนัญญา" ชี้แจงนโยบายยกเลิกสารเคมีภาคการเกษตร "ประภัตร" เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

วันนี้ (2 ก.ย.2562) นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักผลไม้จำนวนมาก หลังจากปรากฏข่าวพบการปนเปื้อนของสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในอัตราสูง ซึ่งพบว่าร้อยละ 41 ของกลุ่มตัวอย่างมีสารพิษตกค้างเกินค่า MRL (Maximum Residue Limit) โดยสอบถามถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารพิษในผักผลไม้ตามที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย รวมถึงแนวทางการป้องกันไม่ให้มีสารพิษตกค้าง ตลอดจนการจัดการสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตราย

โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ น.ส.มมัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงแทนว่า ทางกระทรวงได้แนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรฐานการเกษตรที่ดีหรือ GAP (Good Agricultural Practices) โดยส่งเสริมให้ใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสารตกค้าง โดยมีการสุ่มตรวจสอบพืชกลุ่มเสี่ยงไม่ให้มีสารตกค้างเกินมาตรฐานเกินมาตรฐาน มีการกำหนดรหัสรับรองทั้งรัฐและเอกชน โดยให้สารวัตรเกษตรลงไปตรวจสอบว่ายังมีพืชที่ใช้สารเคมีตกค้างในตลาดหรือไม่ รวมถึงนโยบายไม่ให้จำหน่ายวัตถุอันตราย

นายชลิต แก้วจินดา สมาชิกวุฒิสภา ตั้งกระทู้ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า ปีนี้ฝนทิ้งช่วงนานถึง 6 เดือนซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ รัฐบาลแก้ไขด้วยการสั่งให้ทำฝนหลวง ใช้เครื่องบินโปรยสารเคมี 5,000 เที่ยว และยังมีการศึกษาวิธีการเพิ่มเติมคือการยิงพลุจรวดเพื่อทำฝนหลวง ซึ่งประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนกรมชลประทานเตรียมเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำ รวมถึงจะมีการประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยและกองทัพบก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

นายประภัตร ชี้แจงต่อว่า กรมป่าไม้เตรียมพื้นที่แปลงใหญ่มากกว่า 600,000 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรใช้ทำการเกษตร และประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่ ส่วนการแก้ปัญหาแต่ละหมู่บ้าน ก็มีการจัดงบประมาณ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติงบประมาณให้หมู่บ้าน เพื่อติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้าและขยายไฟฟ้าภายในหมู่บ้าน ซึ่งหากไม่เพียงพอจะมีการสั่งการให้ท้องถิ่นเป็นผู้ช่วยเหลือ

 

 

วุฒิสภายังตั้งสมาชิก 15 คน เป็นคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ประกอบด้วยผู้ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา , นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา , นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา จากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 1 คน คือนายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และจากคณะกรรมการสรรหา 1 คนคือนายนพดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ

นอกจากนี้ ประธานในที่ประชุมยังแจ้งต่อสมาชิกให้รับทราบกรณี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ลาออกจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน และแจ้งให้สมาชิกรับทราบว่ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท. ที่สภาผู้แทนราษฎรรับทราบแล้ว ได้ส่งมายังสำนักเลขาธิการวุฒิสภาแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง