มรภ.อุบลฯ ปักหมุดขอความช่วยเหลือผ่าน "SaveUbon Web App"

Logo Thai PBS
มรภ.อุบลฯ ปักหมุดขอความช่วยเหลือผ่าน "SaveUbon Web App"
ทีมข้อมูลสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผุดไอเดียสร้างแอปพลิเคชันให้ผู้ประสบภัยขอความช่วยเหลือโดยระบุสิ่งของที่ต้องการและจำนวนชิ้น พร้อมปักหมุดพื้นที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือส่งต่อสิ่งของได้อย่างพอดีและตรงความต้องการ

วันนี้ (17 ก.ย.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ ดร.จารุณี อนุพันธ์ อาจารย์สาขาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี หนึ่งในทีมข้อมูลสารสนเทศ  เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี มาปรับใช้สร้างเป็นเอปพลิเคชัน "SaveUbon Web App" เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยมี ผศ.ดร.กชกร เจตินัย ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นผู้นำทีมสารสนเทศ และอำนวยการโดย รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

 

ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี


ดร.จารุณี ระบุว่า แนวคิดของมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้มีเพจศูนย์ติดตาม และรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จากนั้นทีมเก็บข้อมูล 15-17 คน จึงได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดยเน้นด้านเส้นทางการจราจร ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นหลัก เพื่อให้ชาวอุบลฯ ได้วางแผนการเดินทาง โดยไม่ต้องเสี่ยงพบเส้นทางน้ำท่วมจนทำให้เสียเวลา หรือเกิดอันตราย  ข้อมูลเหล่านี้ ถูกรายงานผ่านเฟซบุ๊กศูนย์ฯ แต่ยังติดปัญหาที่การรายงานไม่เรียลไทม์ 

ปักหมุดพื้นที่น้ำท่วม-เส้นทางตัดขาด ผ่านแอปฯ

ต่อมา เมื่อลงพื้นที่ได้ข้อมูลจำนวนหนึ่ง และต้องการนำเสนอข้อมูลให้ทันเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น จึงเริ่มเกิดไอเดียการทำ SAVE UBON Map ขึ้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาอัปเดตสถานการณ์ให้ทันเหตุการณ์พร้อมพัฒนาการปักหมุดพื้นที่โซนน้ำท่วม

โดยแบ่งออกเป็นน้ำท่วมมาก น้ำท่วมน้อย และโซนวิกฤต เน้นการลงพื้นที่เองเป็นหลัก และตรวจสอบข่าวจากเพจเฟซบุ๊กของอุบลราชธานีที่เชื่อถือได้ รวมถึงรับเรื่องจากประชาชนที่ส่งพื้นที่น้ำท่วมเข้ามาพร้อมรูปภาพประกอบ เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จะนำมาปักหมุดแผนที่  http://chutchai.cs.ubru.ac.th ซึ่งทีมพัฒนาอยู่ระหว่างการปรับสีแผนที่ให้อ่านได้ง่ายมากขึ้น

แผนที่ติดตามและเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยให้ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของทีม บอกจุดบริการต่างๆ เช่น ศูนย์บรรเทาทุกข์ จุดน้ำท่วม เส้นทางที่ปิด-เปิดแล้ว จุดปฐมพยาบาล จุดบริการรถ หรือ เส้นทางที่สามารถเลี่ยงจุดน้ำท่วมได้ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปปักหมุดในแผนที่
ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

 

นอกจากเรื่องพื้นที่น้ำท่วม และเส้นทางน้ำท่วมแล้ว ทางทีมงานได้พบว่า เริ่มมีศูนย์อพยพต่างๆ ขอความช่วยเหลือ และมีหน่วยงานหรือประชาชนต้องการให้ความช่วยเหลือ จึงตัดสินใจรวบรวมข้อมูลเพื่อนำคนทั้ง 2 กลุ่มมาพบกัน  โดย สุรัตน์ หารวย อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการสร้าง save ubon web app ซึ่งมีฟังก์ชัน สำหรับการขอความช่วยเหลือของศูนย์พักพิง

คนที่เขาต้องการบริจาคสิ่งของ หลายคนเขาก็ต้องการให้ผู้ประสบภัยถึงมือ และบางครั้งเขาก็ไม่รู้ว่าผู้ประสบภัยต้องการอะไร Save Ubon Web App จึงจะเป็นสื่อกลางเพื่อให้ผู้ประสบภัยได้ระบุสิ่งที่ต้องการจริงๆ จำนวนที่แท้จริง เพื่อให้คนให้ได้ส่งต่อถึงคนรับพอดีใช้ ตรงความต้องการ
ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี


ทั้งนี้ ตัวแทนประจำศูนย์ฯ จะสามารถเข้าสู่ระบบ เพื่อแจ้งข้อมูลสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่ต้องการ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการบริจาคสิ่งของ นำของมาบริจาคได้ตรงกับความต้องการผ่านระบบ  http://ph.ubru.ac.th/saveubon/ โดยหลังจากมีการประกาศขึ้นบนแอปพลิเคชันแล้ว หากมีผู้บริจาคสิ่งของครบตามความต้องการ ทางทีมงานก็จะนำคำร้องขอความช่วยเหลือนั้นออกจากระบบ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และให้ทุกพื้นที่ได้รับความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง

กระจายความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

ศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงบางแห่งก็ไม่มีเวลาที่จะนำคำร้องขอความช่วยเหลืออกจากระบบ ดังนั้น ทีมข้อมูลสารสนเทศ จึงได้จัดตั้งกลุ่มไลน์ พร้อมเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้เพื่อตรวจสอบว่าแต่ละศูนย์ฯ ได้รับความช่วยเหลือแล้วหรือไม่ หากมีการยืนยันจากศูนย์พร้อมหลักฐานภาพถ่าย ทีมงานก็จะลบคำร้องขอออกจากระบบทันที และศูนย์ฯ แต่ละศูนย์ก็สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านทางไลน์กลุ่มเพื่อให้ทีมงานนำข้อมูลลงระบบแทนได้ด้วย 

สำหรับศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงที่ได้ขอความช่วยเหลือผ่านทาง save ubon web app ครอบคลุม 17 ชุมชน ใน 12-15 ตำบล ของเขตเมือง จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 12-16 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีการขอสิ่งของบรรเทาทุกข์ของผู้ประสบภัยแล้วทั้งหมด 91 ครั้ง

โดยต้องการอาหารมากที่สุด ร้อยละ 40 ของใช้ส่วนตัว ร้อยละ 20 อื่นๆ ร้อยละ 13 ยารักษาโรค ร้อยละ 10 น้ำ ร้อยละ 8 อุปกรณ์ให้แสงสว่าง ร้อยละ 5 และเครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 4 โดยทุกคำร้องขอได้สิ่งของบรรเทาทุกข์ครบถ้วน ตามที่ต้องการและไม่มีการรับของเกินเพื่อกักตุน เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะแจ้งอยู่เสมอว่า หากต้องการสิ่งใดเพิ่มเติมก็สามารถเขียนคำร้องขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา

ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ภาพ : ศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

การทำแอปพลิเคชัน เพราะความตั้งใจที่จะเป็นสื่อกลางเรื่องข้อมูลที่เชื่อถือให้ประชาชน แต่เมื่อมีฟังก์ชัน ด้านการขอความช่วยเหลือ และการให้ความช่วยเหลือ ก็เป็นเพียงสื่อกลางเช่นเดิมไม่ได้ทำการเก็บของเพื่อแจกจ่ายไปที่ต่างๆ แต่ให้คนอยากช่วยส่งของไปให้คนที่อยากให้ช่วยด้วยตัวเอง

เทคโนโลยีเพื่ออนาคต หวังใช้ข้อมูลช่วยผ่านวิกฤต

ในอนาคต ดร.จารุณี ระบุว่า ทีมต้องการให้ save ubon web app เป็นจุดเริ่มต้น เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลในช่วงภัยพิบัติในอนาคต เพื่อสื่อสารให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อม และให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน ซึ่งการพัฒนาแอปพลิเคชัน พัฒนาโดยอาจารย์สุรัตน์ และ อาจารย์ชัดชัย แก้วตา อาจารย์คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาภายในเวลาอันรวดเร็ว ในช่วงที่ประชาชนกังวลว่าน้ำจะไหลลงมาท่วมบ้านวันไหน แผนการจัดการหรือการให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างไร

ด้วยความเป็นคนในพื้นที่ ทำให้เข้าใจหลายๆ คนที่ไม่อยากทิ้งบ้านออกมา แม้จะมีน้ำท่วมสูง บางคนก็ย้ายไม่ทัน แต่หากมีข้อมูลที่ดีจะทำให้เรารู้ได้ว่าน้ำเท่านี้ ประชาชนในพื้นที่ไหนต้องย้ายบ้าง น้ำจะท่วมถึงไหน อย่างน้อยประชาชนได้เตรียมความพร้อมทัน

ดร.จารุณี กล่าวว่า น้ำท่วมอุบลราชธานีในครั้งนี้ เป็นเรื่องไม่แปลก เพราะจะเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ แต่ถนนวารินชำราบ เส้นเลี่ยงเมือง หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ไม่เคยถูกตัดขาดมาก่อน จึงทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อพัฒนาการใส่ข้อมูลต่างๆ ในแอปพลิเคชัน ทีมสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีหวังจะช่วยให้ชาว อุบลฯ ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

น้ำท่วมหนักมาก #Saveubon ช่องทางแจ้งขอความช่วยเหลือน้ำท่วม

เตือนมวลน้ำทะลักอุบลฯ สูงสุด 13 ก.ย.นี้ คาดใช้เวลาระบาย 10 วัน

สทนช.ชี้ระดับน้ำมูล-ชีลดลงต่อเนื่อง ส่งผลดีพื้นที่น้ำล้นตลิ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง