“ปรีดา” ทุ่มเททั้งชีวิตพิทักษ์นกเงือกเขาบูโด

สิ่งแวดล้อม
29 ก.ย. 62
09:35
1,056
Logo Thai PBS
“ปรีดา” ทุ่มเททั้งชีวิตพิทักษ์นกเงือกเขาบูโด
"ปรีดา เทียนส่งรัศมี" ผู้ที่ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตดูแลนกเงือกเขาบูโด พื้นที่ที่มีประชากรนกเงือกมากที่สุดในไทย บอกเล่าการทำงานอนุรักษ์ในวันที่ภัยล่า "นกชนหิน" คืบคลานสู่ไทย

สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือก (ส่วนภาคใต้) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเปิดเผยข้อมูลการล่านกชนหิน ในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ตายแล้ว 4 ตัว นำไปสู่การลงชื่อสนับสนุนผ่าน www.change.org ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของไทย พร้อมจัดทำแผนการอนุรักษ์ ปกป้องนกชนหินให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามต่างๆ ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับปรีดา ผู้ที่ทำงานวิจัยควบคู่การอนุรักษ์นกเงือกมานานกว่า 20 ปี

เปลี่ยนผู้ล่า สู่นักอนุรักษ์

“ผมทุ่มเททั้งชีวิต” ปรีดาบอกเล่าถึงการทำงานที่ยากลำบากมานาน 20 ปี ก่อนมาทำงานที่นี่ชาวบ้านก็ล้วงลูกนกไปขายกันอยู่แล้ว แต่โครงการฯ หยุดชาวบ้านด้วยการดึงมาทำงานอนุรักษ์ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันมีชาวบ้านจากชุมชน 7 หมู่บ้านรอบผืนป่าบูโด มาร่วมทีม 35 คน ทำหน้าที่ผู้ช่วยนักวิจัย คอยเฝ้ารังนก ซ่อมโพรงนกเงือก แม้รายได้จะไม่มากเท่าล้วงลูกนกไปขาย แต่มีรายได้ในระยะยาว และเกิดความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มประชากรนกเงือก ทำให้ป่าสมบูรณ์ขึ้นจนเป็นที่รู้จักว่า เขาบูโดมีประชากรนกเงือกหนาแน่นที่สุดในไทย

ทีมงานขณะซ่อมโพรงนกเงือก

ทีมงานขณะซ่อมโพรงนกเงือก

ทีมงานขณะซ่อมโพรงนกเงือก

 

โครงการคุ้มครองนกเงือกฯ เดินหน้าทำงานวิจัยควบคู่กับการอนุรักษ์ โดยเฉพาะการดึงเยาวชนมาร่วมกิจกรรมซ่อมโพรงนกเงือก ในวันที่ 4-8 ต.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความรักและหวงแหนธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้มีโพรงนกเงือก 200 โพรง แต่มีนกเข้ามามีเพียงครึ่งหนึ่ง ทีมงานจึงต้องปีนขึ้นไปตรวจสอบว่าโพรงทรุดหรือไม่ ปากโพรงแคบไปหรือกว้างไป รวมถึงซ่อมโพรง เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับนกเงือก จูงใจนกเข้ามาขยายพันธุ์

ผมมาอยู่ 20 กว่าปี ต้องทำความสัมพันธ์กับชาวบ้านให้เกิดความไว้วางใจและเข้าถึงใจเขา บางทีพูดว่าเปลี่ยนพฤติกรรมมันเหมือนง่าย แต่การทำงานในพื้นที่ไม่ได้ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ ต้องใช้เวลา จิตวิทยา ใช้อะไรสารพัด

ภัยล่า "นกชนหิน" มาถึงไทย

ปรีดา บอกว่า 2-3 ปีนี้ พรานได้เข้ามาล้วงลูกนก จนกระทั่งล่าสุดชาวบ้านแจ้งว่าพบการล่านกชินหิน ลักษณะ "ตัดแต่หัว ตัวไม่เอา" พบทิ้งซากเน่าเหม็น โดยบอกอีกว่า "เคยเตือนเขาแล้วว่าอย่ายิงนกเงือก เขาอนุรักษ์กัน มันกลับท้ายิงผมอีก" ซึ่งพรานจะนำหัวนกชนหินส่งขายตลาดมืดในตัวเมืองนราธิวาส และส่งต่อไปขายยังจีน เวียดนาม ลาว เพื่อแกะสลักแปรรูปเป็นเครื่องประดับ อัญมณี และหัวเข็มขัด สร้างความสะเทือนใจให้กับคนที่ทำงานอนุรักษ์

นกชนหินในไทยมีจำนวนน้อยมาก คาดว่าไม่เกิน 80 คู่ หรือ 160 ตัว มีลักษณะโหนกตัน หนังคอย่นเหมือนนกโบราณ มีวิวัฒนาการกว่า 45 ล้านปี พร้อมสนับสนุนการผลักดันนกชนหิน เป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายรุนแรงขึ้น และส่งผลให้ผู้ล่าเกิดความเกรงกลัว

ปีนี้มีการล่าหัวนกชนหิน เพราะตลาดมีความต้องการมากกว่า ได้เงินมากกว่าการล่าหมู หัวนกชนหินได้เงินเกือบหมื่น
นกชนหิน

นกชนหิน

นกชนหิน

นกเงือกนักปลูกป่า

สำหรับนกชนหินมีขนาด 130-150 ซม. ตัวผู้มีหนังเปลือยบริเวณสีคอแดงคล้ำ โหนกมีสีดำทางด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนตัวเมียหนังบริเวณคอสีฟ้า ไม่มีสำดำบริเวณโหนก สถานภาพใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

ข้อมูลจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า นกเงือกอาจมีอายุยืนถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้นต่อสัปดาห์ ต้นไม้เหล่านี้จะมีอัตรารอดตายเติบโตเป็นไม้ใหญ่ ร้อยละ 5 ช่วงชีวิตของนกเงือกแต่ละตัวจึงสามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ป่าได้ถึงราว 500,000 ต้น โดยในประเทศไทยมีจำนวน 13 ชนิด ได้แก่ นกเงือกคอแดง, นกเงือกปากดำ, นกเงือกสีน้ำตาล, นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว, นกเงือกดำ, นกเงือกหัวหงอก, นกเก๊ก, นกเงือกกรามช้างปากเรียบ, นกเงือกกรามช้าง, นกเงือกปากย่น, นกกก, นกเงือกหัวแรด และนกชนหิน โดยมีพื้นที่ศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้น คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง