ไซเบอร์บูลลี่ กับรอยยิ้มที่หายไปของซอลลี่

สังคม
15 ต.ค. 62
10:11
46,594
Logo Thai PBS
ไซเบอร์บูลลี่ กับรอยยิ้มที่หายไปของซอลลี่
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ชี้ Cyberbullying บนสื่อสังออนไลน์ พื้นที่ซึ่งไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ทำให้หลายคนกล้าที่จะบูลลี่ กลั่นแกล้งผู้อื่นอย่างรุนแรง ทั้งการตั้งฉายา ดูถูกเหยียดหยาม อาจนำพารอยยิ้มและชีวิตของคนๆ หนึ่งหายไป

วันนี้ (15 ต.ค.2562) พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา  เผยแพร่ข้อความ ระบุว่า ข่าวการเสียชีวิตของ ชเว จินรี หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อว่า ‘ซอลลี่’ นักแสดงและนักร้องชื่อดังชาวเกาหลีใต้ ในวัยเพียง 25 ปี ซึ่งหมอเคยได้ติดตามผลงานของซอลลี่ในช่วงเวลาที่เป็นสมาชิกของวงเกิร์ลกรุ๊ป f(x) และเคยดูซีรีส์ที่แสดงเป็นนางเอก เรื่อง 'To a beautiful you' เมื่อได้ทราบจึงรู้สึกตกใจกับข่าวการเสียชีวิตพอสมควร

ที่ผ่านมาหากใครได้ติดตามข่าว ซอลลี่ตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying หรือ 'การระรานทางไซเบอร์' ตามคำนิยามล่าสุดของราชบัณฑิตสภา มาตลอด โดยเฉพาะใน Instagram ที่มีผู้ติดตามเธอกว่า 5 ล้านคน


ในโอกาสนี้หมอขอเขียนบทความเพื่อให้สังคมได้มีการตระหนักถึงพิษภัยจากโลกออนไลน์ อย่าง Cyberbullying ว่าจริงๆแล้ว คืออะไร และเพราะอะไรมันจึงมีผลกระทบกับเหยื่ออย่างยิ่ง

ที่ผ่านมาเราอาจรู้จักการกลั่นแกล้งทั่วๆไป ที่เกิดเฉพาะสถานที่ เช่น การรังแกกันในโรงเรียน ห้องเรียน ซึ่งหากเป็น Cyberbullying มันจะมีความพิเศษที่แตกต่างไป สำหรับ Cyberbullying ผู้กระทำการกลั่นแกล้งระรานคนอื่นบนโลกไซเบอร์ ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน (Anonymous) เหยื่อมักไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำการกลั่นแกล้ง หรือเพราะอะไรที่ตนเองถูกกลั่นแกล้ง

เมื่อไม่ต้องเปิดเผยตัวตนจึงทำให้การกลั่นแกล้งอาจรุนแรงกว่าการกลั่นแกล้งที่เปิดเผยตัวตนตามปกติ เหมือนที่หลายคนมักจะเห็นการแสดงความคิดเห็นตำหนิ ด่าว่าใครสักคนอย่างรุนแรง ตาม Facebook หรือ Instagram และ Cyberbullying สามารถ 'เกิดขึ้นได้ทุกเวลา' (Anytime) 'ทุกสถานที่' (Anyplace) ที่เหยื่อเปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต เช่น ในห้องนอนเวลาก่อนนอน ที่น่าจะเป็นเวลาที่ปลอดภัยและสงบสุข ดังนั้น จึงมีลักษณะที่คุกคามมากกว่าการกลั่นแกล้งดั้งเดิม

นอกจากนั้น มันสามารถถูกเผยแพร่ไปได้ไกลในเวลาอันรวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ต (Virality) ไปถึงชุมชนภายในโรงเรียนหรือกว้างกว่านั้น ไม่ได้จำกัดในสถานที่ใด ทำให้ผลกระทบที่ตามมารุนแรง ทำให้เหยื่อเกิดความอับอาย โดย Cyberbullying ที่พบบ่อย ได้แก่ การตั้งฉายา การดูถูกเหยียดหยาม การเผยแพร่ข่าวลือหรือนินทาว่าร้าย และการส่งต่อรูปภาพที่ไม่เหมาะสม การรวมกลุ่มกันเพื่อกลั่นแกล้ง

ผู้ใหญ่และคนรอบข้างควรมีความเข้าใจอาการแสดงของคนที่ถูก Cyberbullying เพราะเด็กมักจะไม่ได้เล่าเรื่องราวนี้ตั้งแต่แรกให้ผู้ปกครองฟัง

อาการมีได้หลากหลาย เช่น หลีกเลี่ยงที่จะไปโรงเรียน มีพฤติกรรมหนีเรียนหรือขาดเรียนบ่อย อาจหยุดเรียนเพราะมีภาวะเจ็บป่วยทางร่างกาย ไม่เต็มใจที่จะเข้าเรียน หรือมีปัญหาการเรียนอื่นๆ มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำลง มีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลที่มากขึ้น มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ฝันร้ายบ่อยๆ ห่างเหินหรือหลีกเลี่ยงตัวเองจากกลุ่มเพื่อน อยู่ดีๆ มีอาการแยกตัว เก็บตัวอยู่คนเดียวเวลาอยู่ที่บ้าน อาการหงุดหงิด โกรธ โมโห ง่ายกว่าปกติ และที่เราห่วงมากที่สุดคือ พฤติกรรมทำร้ายตัวเอง

มีเด็กและวัยรุ่นมากมายที่ฆ่าตัวตายและมีประวัติว่าถูก Cyberbullying ด้วย จากการสำรวจเด็กในกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่ามีเด็กร้อยละ 48 ที่อยู่ในวงจร Cyberbullying โดยอาจเป็นทั้งผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หรือเป็นผู้ที่พบเห็น พบว่าเด็กส่วนใหญ่อยู่ในชั้นมัธยมต้น


ซอลลี่เป็นคนที่มีรอยยิ้มที่สวยสดใส แต่วันนี้รอยยิ้มของเธอหายไปแล้ว ในกรณีการเสียชีวิตของซอลลี่ เราควรระวังการส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงไปในโลกออนไลน์ มิฉะนั้นเราก็จะกลายเป็นคนที่ Cyberbullying ซอลลี่และญาติของเธอโดยที่ไม่ได้ตั้งใจก็ได้

เราจะเก็บภาพรอยยิ้มของซอลลี่ไว้ในความทรงจำ และหวังว่ามันจะทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจ และระมัดระวังในการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพราะคำพูดและสิ่งที่เราโพสต์ไป เป็นความคิดชั่วแล่น ตรงนั้นอาจจะทำร้ายจิตใจใครสักคนที่มาอ่านก็เป็นไปได้

หากคุณกำลังถูก Cyberbullying หรือสงสัยว่ากำลังซึมเศร้า หรือเครียด ในเบื้องต้นสามารถโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่องค์กรสมาริตันส์ ประเทศไทย 02713-6793 (ภาษาไทย เวลา 12.00 - 22.00) กับ 02713-6791 (ภาษาอังกฤษ 24 ชั่วโมง)

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ซอลลี่" อดีตนักร้อง f(x) ถูกพบเสียชีวิตในบ้านพัก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง