"หักดิบ" เกษตรกรเพราะไม่มีสารทดแทน ?

สิ่งแวดล้อม
18 ต.ค. 62
16:44
687
Logo Thai PBS
"หักดิบ" เกษตรกรเพราะไม่มีสารทดแทน ?
หนึ่งในหลายเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมาคัดค้านการแบนสารเคมี คือ ไม่ควรหักดิบยกเลิกการใช้ในทันทีเพราะยังไม่มีสารทดแทน หรือจริงๆ แล้วไม่สามารถหักด่าน จนทำให้มีสารทดแทนอื่นๆ ได้

หักดิบเกษตรกร?

ใกล้วันชี้ชะตา สารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ข้อถกเถียง “แบน – ไม่แบน” กลับมาครองพื้นที่สื่ออีกครั้ง หนึ่งในหลายเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมาคัดค้าน คือ ไม่ควรหักดิบ ยกเลิกการใช้ในทันทีเพราะยังไม่มีสารทดแทน แต่ถ้าย้อนไปทบทวนเกือบ 3 ปีที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ อาจมีคำถามว่า นี่เป็นการหักดิบ จริงหรือไม่

 

หักดิบ ไม่มีสารทดแทน

“ทำไมต้องแบนทันที” เป็นคำถามใหญ่ที่ฝ่ายค้านการยกเลิกสารเคมีเกษตร หยิบยกขึ้นในช่วงโค้งสุดท้าย หลังมีกระแสข่าว วันอังคารที่ 22 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย อาจมีการพิจารณาปัญหาสารเคมี 3 ชนิดนี้ 

ฝ่ายคัดค้านยืนยัน จนถึงเวลานี้ยังไม่มีสารทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด หรือ มีก็ราคาแพงเกินกว่าเกษตรกรจะรับได้ หากคณะกรรมการฯ มีมติยกเลิก ก็เท่ากับเป็นการหักดิบ โดยไม่มีการพิจารณาปัญหานี้ให้รอบคอบ 

แต่ถ้าย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปี 2560 จะพบว่า ข้อเสนอให้ไปเตรียมการต่างๆ ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร

มติให้ยกเลิกการใช้พาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ภายในปี 2562 และจำกัดการใช้ไกลเซต ของ “คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” ของ 4 กระทรวงหลัก เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 มีข้อหนึ่งระบุให้ ฝ่ายเลขานุการฯ ไปหารือกับกรมวิชาการเกษตร เตรียมมาตรการในการยกเลิกการใช้ต่างๆ เช่น การกำหนดเพดานนำเข้า การควบคุมการขาย การนำไปใช้ และการเรียกผลิตภัณฑ์ที่คงค้างในท้องตลาด

ต้นปี 2561 (30 มกราคม 2561) พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาสารทดแทนในการกำจัดวัชพืช ขณะที่ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 มีมติให้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปจัดทำแผนจำกัดการใช้สารเคมีเกษตรแทนการยกเลิก แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ

กระทั่ง ต้นปี 2562 (14 กุมภาพันธ์ 2562) คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่ยกเลิก แต่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับไปจัดทำแผนจำกัดการใช้สารทั้ง 3 ชนิดอีกครั้ง และเป็นที่มาของมาตรการต่างๆ ในการจำกัดการใช้สาร 3 ชนิด ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้

เวลาเกือบ 3 ปีที่มีข้อเสนอจากรัฐบาล และคณะกรรมการชุดต่างๆ ให้ไปหามาตรการในการจัดการกับสารเคมีเกษตรกลุ่มนี้ โดยเฉพาะวิธีทดแทนสารเคมี แต่ทำไม ถึงไม่มีความคืบหน้า

 


สารทดแทน ติดด่าน

นายธีระ วงศ์เจริญ อดีตที่ปรึกษา นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปลายปี 2561 ตนได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะทำงานเฉพาะกิจขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ โดยได้เชิญเกษตรกร ภาคธุรกิจเพื่อสังคม และหน่วยงานภาครัฐ ที่มีการใช้หรือผลิตสารจุลินทรีย์ธรรมชาติ หรือสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช กำจัดแมลง และโรคพืช มาให้ข้อมูล ก่อนจะจัดทำข้อเสนอไปให้รัฐบาลชุดที่แล้ว

อดีตที่ปรึกษาฯ ยืนยัน สารชีวภัณฑ์กลุ่มนี้ ตอบคำถามต้นทุนที่เกษตรกรต้องแบกรับในการกำจัดวัชพืช ทั้งใบแคบและใบกว้างสำหรับพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง โดยมีต้นทุนเฉลี่ย 100 บาทต่อไร่ ประสิทธิภาพในการคุมหญ้า 2 - 3 เดือน

แต่จนถึงเวลานี้ สารดังกล่าวยังไม่ได้รับการสนับสนุนและขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร โดยเวลานั้น กรมฯ ให้เหตุผลว่า ไม่ใช่จุลินทรีย์เชิงเดี่ยว แต่ในทางกลับกัน สารเหล่านี้ได้รับการตรวจรับรองจากห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ และสามารถจำหน่ายให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในยุโรปและญี่ปุ่น ได้

ท่ามกลางข้อถกเถียงการแบน หรือ ไม่แบนสารเคมี คำถามหนึ่งที่ต้องตอบ คือ ตกลงแล้ว เราไม่ควรหักดิบเพราะไม่มีสารทดแทน หรือ เราไม่สามารถหักด่าน จนทำให้มีสารทดแทนอื่นๆ ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกษตรกรใช้นวัตกรรมทดแทนสารเคมีฆ่าหญ้าในไร่อ้อย

มาตรการรองรับ การแบน “สารเคมีเกษตร”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง