คมนาคมเตรียมติดตั้ง "จีพีเอส" รถยนต์-รถจักรยานยนต์

เศรษฐกิจ
21 ต.ค. 62
16:27
6,841
Logo Thai PBS
คมนาคมเตรียมติดตั้ง "จีพีเอส" รถยนต์-รถจักรยานยนต์
“ศักดิ์สยาม” สั่งกรมการขนส่งทางบกหารือกระทรวงอุตสาหกรรม บังคับรถส่วนบุคคล-รถจักรยานต์ติดจีพีเอสรถใหม่ทุกคัน พร้อมสั่งศึกษาให้สินบนนำจับรถทำผิดกฎหมาย คาดมีผลเดือน ธ.ค.นี้

วันนี้ (21 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่การกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการเร่งด่วน 11 เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการติดตั้งจีพีเอส ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการกับรถ 4 ประเภท ได้แก่ รถบรรทุก รถตู้โดยสาร รถรับจ้างสาธารณะ และรถโดยสารขนาดใหญ่ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และการก่ออาชญากรรม

 

โดยให้กรมการขนส่งทางบกไปศึกษาต่อยอดการใช้จีพีเอสกับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ พร้อมศึกษาเรื่องราคาระบบการติดตั้งจีพีเอส ซึ่งปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000-4,000 บาท และบริการหลังติดตั้งอยู่ที่เดือนละประมาณ 300-400 บาท โดยให้พิจารณาให้มีราคาถูกลง และให้หารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมภายในเดือน ต.ค.นี้ ถึงแนวทางการดำเนินการและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนและเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปีนับจากนี้

ส่วนรถเก่าที่ยังไม่ได้ติดตั้งก็จะพยายามดำเนินการหามาตรการบังคับใช้ นอกจากนี้ต้องศึกษากฎหมายว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ พร้อมย้ำว่าวิธีการตั้งด่านสกัดกั้นเป็นการแก้ไขปลายทาง

 

รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่า สำหรับข้อร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะจะให้กรมการขนส่งทางบกไปศึกษากฎหมายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการช่วยตรวจสอบว่ามีผู้ใช้รถประเภทใดที่ทำผิดกฎหมาย หากสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ อาจมีการแบ่งสินบนนำจับ ให้กับประชาชนที่มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการกระทำความผิดของผู้ใช้รถผิดกฎหมายและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้มีการนำจับ แต่ต้องการให้มีการช่วยกันเฝ้าระวัง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ ผู้ขับขี่และประชาชน อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 เดือน

จริงๆ เรามีกฎหมายเรื่องให้สินบนนำจับ แต่ไม่ได้เอามาใช้อย่างเป็นรูปธรรม จึงให้ ขบ.ไปศึกษาว่าหากประชาชนถ่ายรูปผู้กระทำผิดส่งมา จะต้องส่งอะไรมาบ้าง ดำเนินคดีขนาดไหน เช่น รถขนาดใหญ่ที่ปรับผู้ประกอบการ 50,000 บาท ถ้าแบ่ง 10% ก็ได้ 5,000 บาท ยืนยันไม่ได้ต้องการให้ไล่จับ แต่ต้องเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัย 

ส่วนมาตรการเช็คกิ้งพอยต์ ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 1 เดือน ขนส่งในต่างจังหวัดได้แจ้งว่ามีปัญหาเรื่องบุคลากรต่างจังหวัดไม่เพียงพอ รวมถึงอุปกรณ์บางอย่าง เช่น เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ยังมีน้อยมากกว่าจุดเช็คพ้อยที่มี โดยให้แต่ละหน่วยทำเรื่องมาที่กรมการขนส่งทางบกเพื่อพิจารณาเรื่องงบประมาณ

 

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า สำหรับเรื่องติดจีพีเอสรถยนต์และรถจักรยานยนต์ต้องศึกษาเพื่อนำอุปกรณ์มาติดตั้งอย่างเหมาะสม ก่อนมาปฏิบัติต่อไป โดยต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ กฎหมายอุตสาหกรรม การผลิตรถ ข้อมูลสิทธิส่วนบุคคลว่าสามารถเปิดเผยได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงกฎหมาย ขบ.ทั้งในส่วนของการติดจีพีเอส พ.ร.บ.จราจร รวมทั้งการศึกษาว่าหากมีผลบังคับใช้แล้วและไม่มีปฏิบัติตาม จะมีบทลงโทษอย่างไรด้วย ตลอดจนการตัดแต้มใบขับขี่ โดยใช้เวลาศึกษา 2 เดือน

สำหรับสถิติจดทะเบียนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คนสะสมทั่วประเทศ ณ วันที่ 30 ก.ย.2562 พบว่ามี 9,868,532 คัน ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลมี 6,748,316 คัน, รถยนต์นั่งเกิน 7 คนมี 422,143 คัน และรถจักรยานยนต์มี 21,130,663 คัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง