"บูรณะนิเวศ" เปิดผลศึกษา พบ ช่องโหว่นำเข้ากากอุตสาหกรรม

สิ่งแวดล้อม
29 ต.ค. 62
15:20
881
Logo Thai PBS
"บูรณะนิเวศ" เปิดผลศึกษา พบ ช่องโหว่นำเข้ากากอุตสาหกรรม
"มูลนิธิบูรณะนิเวศ" เปิดข้อมูลการนำเข้าของเสียและผลิตภัณฑ์ใช้แล้วของประเทศ พบ ช่องโหว่กฎหมายควบคุมและแก้ปัญหาของเสียภาคอุตสาหกรรม ชี้ ไทยเป็นจุดหมายสำคัญนำเข้าขยะและของเสียฯ แต่นโยบายและกลไกภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (29 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมมนาวิชาการ "ธุรกิจขยะข้ามพรมแดน : สถานการณ์ในประเทศไทย" มีการเปิดเผยผลการศึกษา "การนำเข้าของเสียและผลิตภัณฑ์ใช้แล้วของประเทศ" พบว่า ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายในการควบคุม ตรวจสอบ ดำเนินคดี และแก้ปัญหา ทำให้ระบบการอนุญาตนำเข้า และระบบการตรวจสอบมีช่องว่างไม่สามารถควบคุมของเสียนำเข้าได้ทั่วถึง 


น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า ข้อจำกัดของการกำกับและควบคุมปัญหาขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทย มีตั้งแต่คำนิยามคำว่า "ของเสีย" กับ "การจัดทำบัญชีรายชื่อ" ที่ยังมีข้อจำกัด โดยการจัดทำบัญชีรายชื่อและพิกัดยังต้องอาศัยบัญชีรายชื่อจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่พิกัดที่มีอยู่ ไม่ครอบคลุมชนิดของเสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการเล็ดลอดไปได้ รวมถึงการแจ้งพิกัดรหัส สถิติ 090 เป็นการหลีกเลี่ยงการสำแดง ว่าเป็นของเสียอันตราย 

 

ขยายกิจการโรงงาน โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงการขยายตัวของโรงงานประเภทคัดแยก ฝังกลบ และรีไซเคิล ประเภท 105 และ 106 ในหลายจังหวัด ทั้งที่เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม และพื้นที่ชุมชนทั่วไป เช่น กรณีพื้นที่อำเภอพนมสารคาม ที่มีโรงงานประเภทรีไซเคิล กระจุกตัวถึง 30 โรง ขณะที่การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือ ร.ง.4 เป็นการออกโฉนดที่ดินทั้งแปลง ทำให้สามารถขยายกิจการโรงงานได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติมอีก แม้ว่ากิจการนั้นอาจจะก่อให้เกิดมลพิษที่กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

     อ่านเพิ่ม : ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตประเภทหรือชนิดของโรงงาน ลำดับที่ 105 และลำดับที่ 106

 


ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2561 ระบุว่า มีของเสียจากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย รวม 37.4 ล้านตัน และยังมีของเสียที่หลุดออกจากระบบ ไม่สามารถตรวจสอบได้อีก ซึ่งส่วนหนึ่งถูกลักลอบนำไปทิ้งหรือกำจัดไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่กลไกในการกำกับติดตามและฟื้นฟูเยียวยา ยังไม่สามารถเท่าทันกับสถานการณ์ปัญหาได้ จึงมีข้อเสนอให้มีการทบทวนนโยบาย และกลไกในการแก้ปัญหานี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลิกปมข่าว : พ.ร.บ.โรงงาน โรงงานใกล้บ้าน

5 ปี คสช. ส่งต่อ ครม.กำจัดซาก

ร้องตรวจสอบโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม กบินทร์บุรี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง