เตือนอันตรายของเล่นพลาสติกพบ "สารทาเลต" เกินมาตรฐานสากล

สังคม
29 ต.ค. 62
15:08
48,177
Logo Thai PBS
เตือนอันตรายของเล่นพลาสติกพบ "สารทาเลต" เกินมาตรฐานสากล
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสุ่มตรวจของเล่นเด็ก พบตุ๊กตายางบีบมี "สารทาเลต" เกินมาตรฐานอียู แพทย์เตือนเสี่ยงทำฮอร์โมนเพศชายในเด็กผิดปกติ เร่ง สมอ.ออกประกาศควบคุมมาตรฐานนำเข้าของเล่นและของใช้ในเด็ก เพื่อความปลอดภัย

วันนี้ (29 ต.ค.2562) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ

โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างของเล่นและของใช้ประเภทพลาสติกพีวีซี (PVC) ที่เด็กอาจนำมาใช้เป็นของเล่น จำนวน 51 ตัวอย่าง จากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ท้องตลาด บริเวณหน้าโรงเรียนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในเว็บไซต์ห้างออนไลน์ ส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารทาเลต (phthalates) 6 ชนิด ที่สกัดได้จากพลาสติก ยาง และสารเคลือบจากผิวของเล่นที่เด็กอาจสัมผัส

 

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ เผยผลตรวจวิเคราะห์จากตัวอย่างทั้งหมด พบปริมาณสารทาเลตเกินกว่าค่ามาตรฐานสากล 18 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 35 โดยชนิดของทาเลตที่ตรวจพบมากที่สุดคือ บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต หรือ DEHP โดยแบ่งของเล่นที่สุ่มตรวจเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มที่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจไม่พบทาเลต หรือพบแต่ไม่เกิน 0.1 (ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด) 12 ตัวอย่าง ได้แก่ ยางกัดมีที่จับ ยี่ห้อ Mind Care, ยางกัดเป็ด (สีชมพู) ยี่ห้อ Tesco loves baby, ยางกัด (สีน้ำเงิน) ยี่ห้อ Playskool baby, ตุ๊กตาพ่นน้ำ, กรุ๊งกริ๊ง (สีน้ำเงิน), ชุดตุ๊กตาไดโนเสาร์, อมยิ้มด้ามยาว, ชุดทำอาหารพลาสติก, ตุ๊กตากระต่าย (สีเหลือง), หุ่นยนต์ซุปเปอร์ฮีโร่, ชุดผลไม้ผ่าครึ่ง และตุ๊กตาช้าง (สีน้ำเงิน) ยี่ห้อ NB Toys


2. กลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจไม่พบทาเลต หรือพบแต่ไม่เกิน 0.1 (ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด) 21 ตัวอย่าง ได้แก่ ช้อน (สีแดง), พวงกุญแจม้า (สีเหลือง), ช้าง (สีส้ม), หมี (สีเทา), ไดโนเสาร์ (สีชมพู), ลูกบอลยาง (มีไฟกระพริบ), ลูกบอลยาง, ชุดตักดิน, ตุ๊กตาสัตว์เล็ก, แหวนยาง, ตุ๊กตาหนู (สีม่วง-เทา), แม่เหล็กผีเสื้อ, พวกกุญแจโมชิ (สีชมพู), ยางกัดทรงห่วงกลม, ยางกัดลายแมว, ยางกัดน้ำ fin, ที่กัดเด็ก, ยางกัดยีราฟ (สีเหลือง), ยางกัดรูปหัวใจ (สีแดง-เขียว), ตัวต่อไดโนเสาร์ และรถตักดิน

 

3. กลุ่มที่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจพบทาเลตเกิน 0.1 (เกินเกณฑ์ที่กำหนด) 7 ตัวอย่าง ได้แก่ พะยูนสีเขียว (35.73), แมวน้ำสีชมพู (34.51), ยางบีบผลไม้ (33.17), ตุ๊กตาเป็ดสีเหลือง ยี่ห้อ Baby gift set (30.34), ตุ๊กตาหมี สีน้ำเงิน ยี่ห้อ NB Toys (27.529), ตุ๊กตาไก่สีเหลือง (22.593) และชุดบล็อกต่อ (12.94)


4. กลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจพบทาเลตเกิน 0.1 (เกินเกณฑ์ที่กำหนด) 11 ตัวอย่าง ได้แก่ ยางบีบหมู (37.863), พวงกุญแจสไปเดอร์แมน (36.688), แรคคูณสีเหลือง (36.422), สายรัดข้อมือสีชมพู (33.84), ตุ๊กตาบีบสัตว์ (33.18), เป็ดสีเหลือง (28.436), ตุ๊กตาเจ้าหญิง (18.83), พวงกุญแจจระเข้ (17.56), ตุ๊กตาเจ้าหญิง (9.485), พวงกุญแจยางไดโนเสาร์ (5.43) และตุ๊กตาม้า (2.92) 

โดยเฉพาะของเล่นประเภทตุ๊กตาบีบได้รูปสัตว์ชนิดต่างๆ พบว่ามีค่าทาเลตสูงมาก เช่น ยางบีบหมู ซึ่งตรวจพบปริมาณทาเลตรวม เท่ากับ 37.86 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล) แรคคูณสีเหลือง ตรวจพบปริมาณทาเลตรวม เท่ากับ 36.42 และ พะยูนสีเขียว ตรวจพบปริมาณทาเลตรวม เท่ากับ 35.74 ซึ่งมาตรฐานของเล่นสหภาพยุโรปมีเกณฑ์กำหนดสูงสุดของปริมาณรวมของอนุพันธ์ทาเลตในของเล่นทั่วไปและของเล่นสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ และมีส่วนที่นำเข้าปากได้ ไว้ไม่เกิน 0.1% โดยมวล

 

ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ทาเลต ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกชนิดพีวีซี เพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป สามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์ไปเกาะติดกับสิ่งอื่น เช่น มือ เมื่อมีการสัมผัสได้ ทาเลตมีหลายชนิด บางชนิดเป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์จะต้านแอนโดรเจน หรือฮอร์โมนเพศชาย

ทั้งนี้ มาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้ควบคุมสารทาเลต แต่ไทยอยู่ระหว่างร่างแก้ไขมาตรฐานของเล่น มอก. 685/2540 ซึ่งใช้มานานกว่า 22 ปี โดยบรรจุเรื่องการควบคุมการใช้สารทาเลตไว้ 6 ชนิด ไม่ให้เกิน 0.1% โดยมวล พร้อมกับการเตรียมห้องทดสอบไว้เพื่อตรวจเมื่อประกาศใช้ คาดว่าปลายปีนี้จะประกาศใช้ ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับเด็ก พร้อมเสนอให้พัฒนาระบบตรวจสอบของเล่น หลังวางจำหน่ายในตลาดให้เข้มข้นขึ้น เพราะปัจจุบันการตรวจหลังวางจำหน่ายแล้วมีน้อย เน้นตรวจก่อนการวางจำหน่ายว่าเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่มากกว่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง