ชูความหลากหลายพันธุ์ข้าว ช่วยกู้วิกฤตข้าว - ชาวนาไทย

สังคม
25 พ.ย. 62
20:07
942
Logo Thai PBS
ชูความหลากหลายพันธุ์ข้าว ช่วยกู้วิกฤตข้าว - ชาวนาไทย
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เปิดวงเสวนา "ข้าว ดิน คน : รวย/รอด ไปด้วยกัน" ชี้วิกฤตข้าวไทย คนบริโภคข้าวน้อยลง ต้องเร่งเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ข้าวและชาวนา แนะฝ่ายนโยบาย ชูจุดเด่นความหลากหลายของพันธุ์ข้าวเป็นจุดขาย สร้างทางเลือก - ทางรอดชาวนาไทย

วันนี้ (25 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา "ข้าว ดิน คน : รวย/รอด ไปด้วยกัน" หวังขับเคลื่อนความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม ผ่านการพัฒนากระบวนการผลิตและจำหน่ายข้าว หลังพบว่าปัจจุบันตลาดค้าข้าวของไทยมีแนวโน้มตกต่ำลง ทั้งด้านการจัดจำหน่ายส่งออกต่างประเทศ และการค้าในตลาดภายในประเทศ ผู้บริโภคมีโอกาสน้อยในการเลือกรับประทานข้าวหลากหลายสายพันธุ์ และเกษตกรผู้ผลิตข้าวหรือชาวนา ยังเสี่ยงต่อการขาดทุนจากกลไกทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม


นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ปัจจุบัน เกษตรกรรายเล็ก มีแนวโน้มไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาว จากผลสำรวจที่พบว่าเกษตรกรเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด มีพื้นที่สำหรับการปลูกข้าวไม่เกิน 10 ไร่ ทำให้ต้นทุนต่อการทำเกษตรแต่ละครั้งสูงกว่าเกษตรกรรายใหญ่ที่มีพื้นที่ในการเพาะปลูกมากกว่า ขณะที่พันธุ์ข้าวปลูกก็มักเป็นสายพันธุ์ทั่วไป มากกว่าข้าวสายพันธุ์พื้นถิ่น ทำให้มีการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดสูง


อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังได้ระบุถึงวิธีที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยอยู่รอดต่อได้ ต้องวางแผนทางการตลาดที่ถูกทาง เช่น การสร้างตลาดข้าวเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่ต้องการบริโภคข้าวที่มีคุณภาพตามต้องการ และผลิตข้าวที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้เพิ่มขึ้นบนฐานคิดการทำเกษตรยั่งยืน ซึ่งในส่วนของผู้บริโภคเอง อาจมีการรณรงค์ให้รับรู้ว่ามีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อสร้างความต้องการซื้อ และทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ต่อเป็นวงจร

ปัจจุบันมีข้าวหลากหลายสายพันธ์ุที่มีคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการสูง เพียงแต่เมื่อไม่มีตลาดรองรับ จึงไม่ถูกนำมาปลูกในวงกว้าง ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา เทรนด์รักสุขภาพมากขึ้น จึงควรใช้โอกาสนี้ รณรงค์ สร้างการตระหนักรู้ ให้เกิดการสนับสนุนข้าวหลากหลายสายพันธุ์ของไทย


นายวุฒิพงศ์ ชาครัตพงศ์ ผู้จัดการศาลานา ธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อพัฒนาการเกษตรตามแนวทาง Smart Farmer ระบุว่า หากจะทำให้ผู้บริโภครับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ และสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค ต้องเริ่มตั้งแต่การทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงที่มาของข้าว กระบวนการผลิต คุณลักษณะและคุณประโยชน์ทางโภชนาการ เห็นความสำคัญของข้าวที่มีต่อร่างกาย สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งเชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ผลิต ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเป็นมิตรต่อการกินเป็นมิตรต่อข้าว และจะเป็นผู้ขับเคลื่อนวัฒนธรรมการกินข้าวที่ดี


ด้าน ดร.ศยามล เจริญรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวที่มีน้อยลงในท้องตลาด ส่งผลให้ผู้บริโภคขาดโอกาสที่จะเลือกรับประทานข้าวที่มีคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการ เพราะข้าวแต่ละสายพันธ์ุมีคุณประโยชน์ต่างกัน ซึ่งการขาดโอกาสในการเลือก ก็อาจเรียกได้ว่าไม่มีความเป็นธรรมในสังคม ขณะที่เกษตรกรเอง ก็ขาดความเป็นธรรมจากกลไกการตลาด ที่มีการตั้งราคาไม่เป็นธรรม จึงควรทำให้สังคมเห็นคุณค่าของข้าว มากกว่าการเป็นสินค้าที่กำหนดราคาตามกลไกตลาด แต่ทำให้ข้าวมีคุณค่าจากประโยชน์ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้น

หากมีการสร้างความหลากหลายในการจำหน่ายข้าว และสร้างมาตรฐานราคาให้เหมาะสม จะทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสในการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น และทำให้เกษตรกรเองมีโอกาสในการผลิตข้าวหลายสายพันธุ์

นอกจากนี้ หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม ได้จัดทำหนังสือ Thai Rice Guidbook โดยจะเปิดตัวและแจกให้กับผู้เข้าร่วมงาน เทศกาลข้าวใหม่ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21-22 ธ.ค.2562 ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถ.วิภาวดีรังสิต กทม.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่สุดในโลก "ข้าว ST24" ของเวียดนาม "เมล็ดยาว-นุ่ม-กลิ่นหอม" 

"ต้นทุนการผลิต" อุปสรรคสำคัญชาวนา

คนไทยกินข้าวน้อยลง เฉลี่ยแค่ปีละ 90-100 กก.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง