เปิด "ที่มา-บทบาท" คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม

เศรษฐกิจ
3 ธ.ค. 62
13:12
303
Logo Thai PBS
เปิด "ที่มา-บทบาท" คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม
คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรมที่กระทรวงพลังงานแต่งตั้งจากหลายฝ่ายที่มีความเห็นต่าง ได้หารือการกำหนดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) เพื่อให้ราคาขายปลีกลดลง ไปดูว่าคณะทำงานนี้มีที่มาและบทบาทอย่างไร

วันนี้ (3 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสความเห็นต่างพลังงานมีมานานนับ 10 ปี กรณีที่รุนแรงที่สุดคือการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่รอบที่ 21 ที่แบ่งความเห็น 2 ฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายรัฐที่ต้องการหาแหล่งพลังงานสำรอง และฝ่ายเครือข่ายประชาชนที่ต้องการให้แก้กฎหมายก่อนเปิดสัมปทาน มาถึงยุค คสช.ทำให้เกิดเวทีแสดงความเห็นหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดไม่เกิดการเปิดสัมทานใหม่ มีเพียงการเปิดสำรวจและผลิตในแหล่งเดิม คือบงกช และเอราวัณ ในอ่าวไทยที่ใกล้หมดอายุ ที่ได้ข้อยุติในรัฐมนตรีพลังงานคนก่อนหน้า คือนายศิริ จิระพงษ์พันธ์

"อีอาร์เอส-คปพ." เข้าพบ รมว.พลังงาน คนใหม่

และหลังมีรัฐบาลเลือกตั้ง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ มาเป็นเจ้ากระทรวง 2 ส.ค.2562 กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนหรืออีอาร์เอส เช่น นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต เข้าพบเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องด้านพลังงาน เน้นให้ปรับโครงสร้างราคาพลังงานสะท้อนต้นทุน และพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศ

ถัดมา 20 วัน เปิดห้องทำงาน รับฟังความเห็นจากแกนนำ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน หรือ คปพ. นำโดย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล, น.ส.รสนา โตสิตระกูล ที่มีข้อเรียกร้องให้รัฐจัดการผลประโยชน์ทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซ พื้นที่ทับซ้อน และรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน และเมื่อ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีหารือกับตัวแทนกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกพร้อมเครือข่าย ซึ่งชุมนุมอยู่ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ปรับราคาน้ำมัน และแก๊สเท่าประเทศมาเลเซีย

ตัวแทนหลายฝ่ายร่วมคณะทำงานฯ ด้านพลังงาน

การเปิดรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ทำให้หลายคนที่ได้พบรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม รวมถึงฝ่ายรัฐเองที่มีปลัดกระทรวง เป็นคณะทำงานชุดนี้ มีผู้ช่วยรัฐมนตรี และเลขานุการรัฐมนตรี อธิบดีทุกกรม และผู้แทนกระทรวงอื่นด้วย เพื่อศึกษาจัดทำข้อเสนอการกำหนดโครงสร้างราคาพลังงาน เรียกผู้เกี่ยวข้องที่รวมถึงภาคเอกชนมาให้ข้อมูลได้ด้วย

น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมี ที่เปิดพื้นที่พูดคุยในรูปแบบคณะทำงานจริงจัง หันมาดูข้อเสนอการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้ จะต้องการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นแบบเดิมให้ลดลง และหวังว่าราคาน้ำมันขายปลีกให้ประชาชนลดลงด้วย เรื่องนี้มีการตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อเข้าไปดูข้อมูลจริง ก่อนหาแนวทางปรับ แต่กลไกธุรกิจน้ำมันแม้ถูกกำกับโดยกระทรวงพลังงาน แต่ไม่ใช่การบังคับ แม้จะตกผลึกว่าต้องปรับตัดลดราคาหน้าโรงกลั่น แต่ทางปฏิบัติอาจเป็นอีกแบบ

"ไทย" มีแนวทิศทางที่ดีในการหารือประเด็นพลังงาน

ไม่ว่าจะมีการปรับราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นหรือไม่ แต่การเปิดใจรับฟังความเห็นต่างในไทยเป็นไปในทิศทางที่ดี ยังมีเหตุการณ์หลายประเทศที่ปัญหาพลังงานทำให้เกิดการประท้วงบานปลาย อย่าง ชิลี ราคาพลังงานที่แพงขึ้น ค่าเงินอ่อนค่า ทำให้ต้องขึ้นค่ารถเมล์และรถใต้ดิน ประกอบกับผู้นำไม่สนใจ ประชาชนจึงไม่พอใจ หรือกรณีอิหร่าน แม้เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ กลับเกิดประท้วงเพื่อเดือนก่อน เพราะรัฐบาลขึ้นราคาน้ำมัน 50% ทำให้มีผู้เสียชีวิต 200 คน

หากเศรษฐกิจอ่อนแอ ประเด็นพลังงานอาจถูกหยิบยกมาเป็นข้อขัดแย้งมากขึ้นได้ ไทยมีทิศทางที่ดีในการพูดคุย มีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นพลังงานที่ควรแก้ไข แม้เวทีคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม จะทำงานได้ตามข้อเรียกร้องที่หลากหลายได้เพียงใด แต่เป็นสัญญาณที่ดีว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง