เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 63 ฝรั่งเศส เอสโตเนีย เยอรมนีและเบลเยียม ซึ่งเป็นชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปและเป็นชาติสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้เมียนมาแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการนำบุคคลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้รับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไป
นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ร่วมฉบับดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้เมียนมาดำเนินการตามมาตรการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก พร้อมทั้งร้องขอให้เมียนมาสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการรับชาวโรฮิงญากลับประเทศ อย่างมีเกียรติ ด้วยความสมัครใจ มีความปลอดภัยและยั่งยืน

เหตุการณ์รุนแรงที่มีต่อชาวโรฮิงญาได้รับความสนใจไปทั่วโลก หลังจากกองทัพเมียนมาใช้กำลังเข้าปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ จนส่งผลให้ชาวโรฮิงญาประมาณ 740,000 คน ต้องอพยพหนีความรุนแรงไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพในบังกลาเทศ