“คมนาคม” เสนอ คจร.กำหนดอัตราสปีดรถไม่เกิน 120 กม./ชม. เดือนหน้า

เศรษฐกิจ
14 ก.พ. 63
19:13
1,513
Logo Thai PBS
“คมนาคม” เสนอ คจร.กำหนดอัตราสปีดรถไม่เกิน 120 กม./ชม. เดือนหน้า
“คมนาคม” ชง คจร. กำหนดอัตราสปีดรถไม่เกิน 120 กม./ชม. เดือนหน้า พร้อมมอบ สนข.จัดทำประชาพิจารณ์ 30 วัน เล็งนำร่อง “ถนนสายเอเชีย” ยันปีนี้ได้เห็นแน่ ด้าน “ศักดิ์สยาม” แจงประเภทรถใช้ความเร็ว ลั่น! “บังคับความเร็วต้องมาความพร้อมความปลอดภัย”

วันนี้ (14 ก.พ.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมช.คมนาคม) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแปรนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 1/2563 ว่า กระทรวงคมนาคมได้ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานการ โดยในส่วนของนโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร (กม.)/ชั่วโมง (ชม.) เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (Maximum Speed)

ทั้งนี้ ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดประชุมหารือร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (สปค.) เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาจัดทำ (ร่าง) กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2563

ขณะเดียวกัน ภายในสัปดาห์หน้า สนข.จะจัดทำประชาพิจารณ์ระยะเวลา 30 วัน ถึงแนวทางดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจน เกิดประโยชน์สูงสุดกับความปลอดภัยของประชาชน จากนั้นจะเสนอไปยังคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในช่วง มี.ค. 2563 ก่อนเสนอไปให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ และมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน โดยจะนำร่องบังคับใช้กับทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) ในช่วงที่มีความพร้อมและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ก่อน

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ได้กำหนดความเร็วของรถแต่ละประเภทตามที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระบุไว้ 6 ประเภท ได้แก่

1.รถบรรทุกที่มีน้ำหนักตัวรถเกิน 2,200 กิโลกรัม รถบรรทุกคนโดยสารที่ใช้บรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม.

2.รถในขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์ 4 ล้อเล็ก หรือรถยนต์ 3 ล้อ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กม./ชม.

3.รถจักรยานยนต์ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. หรือรถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม.

4.รถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.

5.รถบรรทุกคนโดยสาร 7- 15 คน ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม.

6.รถยนต์อื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ดังกล่าวข้างต้นนั้น ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. โดยขับในช่องทางเดินรถช่องขวาสุด ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. (Low Speed)

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้ดังกล่าวนั้น ถือเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ทั่วโลก อาทิ เมืองออโตบาห์น ประเทศเยอรมนี

นอกจากนี้ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ยังได้กำหนดอัตราความเร็วสูงสุดเป็น 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และกำหนดประเภทถนนที่ใช้ความเร็วดังกล่าวได้ กล่าวคือ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ที่มีช่องเดินรถทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป เฉพาะถนนที่มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ตลอดจนกำหนดอัตราความเร็วต่ำสุดในช่องขวาให้ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วไว้ให้ผู้ขับขี่รถทุกประเภทขับขี่ในอัตราที่กำหนดไว้ในเครื่องหมายจราจร

“ความเร็วรถที่วิ่งใช้ความเร็วได้ ไม่ใช่ว่าประกาศแล้วจะใช้ได้ทั้งเส้น ต้องดูช่วงที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ โดย ทล. และ ทช. จะต้องไปจัดทำป้ายเครื่องหมายจราจรว่าบริเวณใดใช้ความเร็วได้ มีป้ายบอกล่วงหน้า เตือนก่อนไม่น้อยกว่า 500 เมตร ให้ประชาชนได้รับทราบว่าเข้าพื้นที่กำหนดความเร็วแล้ว ซึ่งเรื่องของความเร็ว 120 กม./ชม.นั้น ต้องมาพร้อมกับความปลอดภัย” นายศักดิ์สยาม กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง