วันนี้ (24 มี.ค.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศเตรียมใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.) เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในวันที่ 26 มี.ค.นี้
สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีทั้งหมด 19 มาตรา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่สำหรับในสถานการณ์ครั้งนี้ เบื้องต้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะใช้เพื่อดำเนินการก่อน 14 มาตรการ ขณะที่มีสาระสำคัญ เบื้องต้น ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน 4 มาตรา คือ
มาตรา 4 ในพระราชกําหนดนี้ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทําให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทําความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจําเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดํารงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปิดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง
มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอํานาจออกข้อกําหนด ดังต่อไปนี้
(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กําหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
(3) ห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มีขอความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกําหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทาง คมนาคมหรือการใช้ยาพาหนะ
(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ
(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กําหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าวหรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กําหนดข้อกําหนดตามวรรคหนึ่ง จะกําหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามขอกําหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กําหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแกเหตุได้
ข้อกําหนดตามวรรคหนึ่ง จะกําหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกําหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กําหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแกเหตุก็ได้
มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 19 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกําหนดนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการทั้งหมด รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 26 มี.ค.นี้ โดยรัฐบาลจะยกระดับให้ศูนย์ COVID-19 เป็นหน่วยงานดำเนินการ และหารือข้อกำหนดภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ การจัดตั้งคณะทำงานในศูนย์ เพื่อวางแผนดำเนินงาน ซึ่งข้อกำหนดสามารถออกได้ทุกวัน เบื้องต้นจะมีมาตรการขอความร่วมมือก่อน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุม COVID-19 ขั้นสูงสุด