ศบค.ชี้เคอร์ฟิวเวลาเดิม 4 ทุ่มถึงตี 4-รอรับคนไทยนับหมื่นกักโรค

สังคม
9 เม.ย. 63
13:35
3,058
Logo Thai PBS
ศบค.ชี้เคอร์ฟิวเวลาเดิม 4 ทุ่มถึงตี 4-รอรับคนไทยนับหมื่นกักโรค
โฆษก ศบค.ระบุนายกรัฐมนตรี ชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ช่วยดูแลในสถานการณ์ COVID-19 กำชับ 6 ประเด็นในการลดการแพร่ระบาดโรค ยังคงเคอร์ฟิว เวลา 22.00-04.00 น. เร่งมาตรการเยียวยา ขณะที่วันนี้ติดเชื้อเพิ่ม 54 คน พร้อมเตรียมรองรับคนไทยนับหมื่นกลับไทยเข้ากักโรค

วันนี้ (9 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า สถานการณ์ผู้ป่วย COVID-19 ในไทยวันนี้ตัวเลขลดลงเหลือเพียง 54 คน รวมผู้ป่วยสะสม เพิ่มขึ้น 54 คน รวมผู้ป่วยสะสม 2,423 คน กระจายใน 67 จังหวัด หายป่วยแล้ว 940 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 32 คน ส่วนสถานการณ์โลก พบผู้ป่วยสะสม 1,518,719 คน เสียชีวิต 88,502 คน หายแล้ว 330,589 คน และอาการหนัก 48,079 คน

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตคนที่ 31 เป็นชายสัญชาติฝรั่งเศส อายุ 74 ปี ไม่มีโรคประจำตัว เริ่มป่วย 27 มี.ค. มีไข้ ไอ เหนื่อย และปวดท้อง รักษาที่ รพ.แห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี พบปอดอักเสบ ยืนยันเป็น COVID-19 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนผู้เสียชีวิตคนที่ 32 เป็นชายไทย อายุ 82 ปี เริ่มมีอาการป่วย 25 มี.ค. มีไข้ ไอเหนื่อยรักษาใน รพ.แห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิต 8 เม.ย.ที่ผ่านมา

นายกฯกำชับ 6 ข้อ-คงเวลาเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศูนย์ ศบค.เข้าร่วมประชุมกับหน่วนยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเนื้อหาสำคัญคือนายกรัฐมนตรี ขอบคุณ และชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยสั่งให้ดูแลขวัญกำลังใจผู้ที่มีความเสี่ยงในการดูแลคนป่วย COVID-19 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี กำชับใน 6 ประเด็นสำคัญ ทั้งการชี้แจงประชาชนผ่านทาง ศบค. พร้อมให้มีการทำข้อมูลกลางที่ให้ถูกต้อง เพราะจะนำไปสู่การปรับมาตรการ รวมทั้งต้องใช้สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ ประเด็นต่อมาการดูแลผู้ที่เดินทางกลับมาไทย ต้องเข้มงวดคัดกรองคนเข้าประเทศ เพราะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงนี้ 

ส่วนการเคอร์ฟิว ยังคงไม่ปรับเวลาเพิ่มที่กำหนดไว้ โดยจะยังคงที่เวลา 22.00-04.00 น. แต่ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือด้วย

ส่วนมาตรการเยียวยาประชาชน ซึ่งตัวเลขลงทะเบียนเงินเยียวยาสูงมากกว่า 20 ล้านคน เจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบ เพราะเงินก้อนนี้ก็มีจำกัด ส่วนการจัดสรรหน้ากากอนามัย ทางรัฐได้พยายามจัดหาทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ แต่เน้นให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน ส่วนประชาชนส่งหน้ากากผ้าให้ใช้ก่อน

 

บุคลากรแพทย์ป่วยเพิ่ม-10 จังหวัดยังรอด

โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า  สำหรับผู้ป่วยใหม่วันนี้ 54 คน ยังพบว่าเป็นพื้นที่ กทม.มากที่สุด 21 คน รองลงมาคือปัตตานี 11 คน และชลบุรี ปทุมธานี และภูเก็ต 3 คน และพบว่ามีผู้ป่วยใน 67 จังหวัดแล้ว ส่วนอีก 10 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พังงา พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง กำแพงเพชร ทำให้วันนี้ต้องมีมาตการตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case finding) นำร่องพื้นที่เสี่ยง เช่น กทม. ภูเก็ต นนทบุรี 

การพบผู้ป่วยรายแรกในจังหวัดต่างๆ พบเป็นคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และคนที่เดินทางมาจาก กทม. ทั้งจากกลุ่มสนามมวย และสถานบันเทิง ขอย้ำว่าหากมาจากต่างประเทศต้องกักตัวกับรัฐ เดินทางข้ามจังหวัดกักตัวที่บ้าน 14 วัน 

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา จากตัวเลขสถานการณ์บุคลากรทางการแพทย์ พบว่า ตั้งแต่ ม.ค.- 8 เม.ย.ที่ผานมา มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 80 คน คิดเป็นร้อยละ 3.4 ของผู้ป่วยทั้งหมด เพราะมีรายงานบางจังหวัดที่ต้องกักตัวบุคลากรและคนใกล้ชิดเพราะผู้ป่วยนับ 100 คน ทำให้เสียบุคลากรการทำงานไป นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มติดเชื้อจากโรงพยาบาล 50 คน ติดในชุมชน 18 คน และอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 12 คน 

คนไทยรอกลับหลักหมื่น-เตรียมเคาะเงินช่วย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานคนไทยที่จะเดินทางกลับมาไทยเพิ่มอีกประมาณ 5,473 คน ทางเครื่องบิน ส่วนจะขอเดินทางผ่านด่านประเทศมาเลเซีย ขณะนี้มีตัวเลขแบบไม่ทางการนับ 10,000 คน แต่ปรากฎว่าพบมีคนไทยลงทะเบียนรวม 14,664 คน และเข้ามาแล้ว 12,771 คน โดยวันนี้จะมีเดินทางเข้ามาอีกกลุ่มหนึ่งจนถึงวันที่ 18 เม.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี กำชับว่าก่อนเข้ามาแล้วต้องทำอะไร มีการคุยกันว่าต้องมีการรองรับทั้งเรื่องที่พักตัวตัวของรัฐ ห้องพัก และบุคลากร เท่าที่คุยศักยภาพรองรับคนไทยเดินทางกลับไปได้ประมาณ 200 คนต่อวัน

โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า มีข้อสรุปว่าคนไทยทุกคนทางผู้บริหารยินดีต้อนรับทุกคน แต่ถ้าเห็นคิวแล้วยังยาว อาจขอให้พักอยู่ในต่างประเทศก่อน ส่วนคนที่เดือดร้อนอาจจะมีงบประมาณให้ เหมือนกับแจกคนไทย 5,000 บาทและยังไม่นิ่งตัวเลขเช่น คนไทยในกัมพูชา มาเลเซียพม่า ค่าใช้จ่ายจำนำวนเท่าไหร่ และขอให้อยู่กับพื้นที่นั้นกว่าที่จะเสี่ยงเดินทางกลับมา

ตั้งใจกลับมาเพราะมีปัญหาเยอะแยะ ก็ต้องเปิดทาง แต่ต้องมีลำดับขั้น เพราะต้องดูแลคนไทยกว่า 60 ล้านคนในประเทศให้ปลอดภัยจากโรคแต่ก็พร้อมดูแลคนไทยในต่างประเทศที่มีตัวเลข 1.6 ล้านคน

ขณะนี้หากคนที่จะกลับมาไทย ต้องมีใบรับรองแพทย์ มีการกักตัวเอง 14 วัน และการยินยอมต้องมีการกักตัวต่ออีก 14 วัน และใช้ชุดตรวจก่อนขึ้นเครื่อง นอกจากนี้ยังหารือเรื่องการเตรียมห้องกักตัวเพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้มีรองรับได้กว่า 2,037 ห้อง แต่หากให้พักคนละ 1 ห้อง ต้องหาเพิ่มอีก 1,500 ห้อง ส่วนกระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมไว้ 460 แห่ง พักได้ 13,000 คน ซึ่งอยู่ในจังหวัดต่างๆ ส่วนโรงพบาบาลสนามมี 98 โรงพยาบาลใน กทม.และปริมณฑล แต่ยังขาดไอซียู ต้องเพิ่มอีก 80 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยหนักในกรณีร้ายแรงที่สุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลื่อนเปิดเทอม กระทบเด็กเลื่อนชั้น "เรียนจบ - ไม่มีที่เรียนต่อ"

ปูพรมตรวจ Active case finding ตัดตอน COVID-19 ระบาด

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง