ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สว.นพดล เตรียมเสนอญัตติ แก้อาชญากรรมไซเบอร์ - คอลเซ็นเตอร์

การเมือง
13:42
81
 สว.นพดล เตรียมเสนอญัตติ แก้อาชญากรรมไซเบอร์ - คอลเซ็นเตอร์
สว.นพดล เตรียมเสนอญัตติ ร่วมแก้อาชญากรรมไซเบอร์ - แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังกลไกรัฐจัดการไม่ท่วงที ก่อความเสียหาย วันละ 100 ล้าน 6 เดือนทะลุหมื่นกว่าล้าน แนะหากเอาจริงแก้ไม่ยาก ง่ายกว่าครม.ชุดที่แล้วเพราะรวบกระทรวงสำคัญไว้หมด หากล้มเหลวโยนบาปให้คนอื่นไม่ได้

วันนี้ ( 12 ก.ค.2568) นายนพดล อินนา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะผู้จะเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน ที่จะพิจารณาในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 15 ก.ค. เปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นปัญหามานานมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะเรื่องปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตนเป็นคนพูดในวุฒิสภาเป็นคนแรกๆ ซึ่งปัญหานี้รัฐบาลก็ดำเนินการมาตลอด แม้จะมีพระราชกำหนด ไซเบอร์ (พ.ร.ก.) ฉบับใหม่บังคับใช้มาหลายเดือน แต่ปัญหาก็ยังไม่ลดลงเท่าที่ควร หรือยังไม่ลดลงแบบมีนัยยะสำคัญ

นายนพดล อินนา  สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะผู้จะเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาปัญหาสังคม

นายนพดล อินนา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะผู้จะเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาปัญหาสังคม

นายนพดล อินนา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะผู้จะเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาปัญหาสังคม

คิดว่าวุฒิสภาควรเข้ามามีส่วนในการเข้ามาศึกษาและเสนอแนะ เพราะวันหนึ่งเราเสียเงินกับเรื่องนี้ร่วม 100 ล้านบาทต่อวัน ถือว่าเยอะมาก ปีหนึ่งตก 2-3 หมื่นล้านบาท เราสามารถอำนวยประโยชน์ได้อย่างมากมาย สว.เราได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงเสนอญัตติขึ้น

นายนพดล ย้ำว่า หากเราเอาจริงเอาจังบังคับใช้กฎหมาย มันก็ไม่ยาก เพราะผู้ประกอบการตามแนวชายแดนก็เป็นคนไทยเป็นส่วนใหญ่ เพื่อนบ้านใช้สัญญาณต่างๆของประเทศไทยแล้วกลับมาทำร้ายประเทศไทยเอง เมื่อถามว่ามองว่าในช่วงที่รัฐบาลสั่นคลอนแบบนี้ จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพมากนัก เพราะปัจจุบันนี้ จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสำคัญ กระทรวงหลักก็ขึ้นอยู่กับพรรคแกนนำ ซึ่งก็เป็นพรรคเดียวกัน ตนมองว่าจะแก้ปัญหาได้ง่ายกว่าครั้งที่แล้วด้วยซ้ำไป เพราะตอนนั้นเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค

งานนี้ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ไขได้ดี ก็จะเป็นผลงานของรัฐบาล ในทางกลับกัน ถ้าทำไม่ได้ ก็จะเป็นผลเสีย จะโทษใครก็ไม่ได้ เพราะอำนาจในการสั่งการเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลโดยตรง

สำหรับสาระสำคัญของญัตติดังกล่าว ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ของประชาชนอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมในวงกว้าง โดยที่กลไกของรัฐไม่สามารถ จัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ได้แก่ ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์โดยเฉพาะจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายกับปัญหาการพนันออนไลน์และยาเสพติด ทำให้จำนวนคดีอาชญากรรม สูงขึ้นมาก

ส่งผลเสียต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวคนไทยสูงมาก ซึ่งเว็บไซต์กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุว่า ความเสียหายของอาชญากรรมทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1ม.ค. - 18 มิ.ย.68 มีมูลค่าถึง12,779,626,726 บาท โดยเจ้าหน้าที่สามารถอายัดบัญชีได้ทันเพียงร้อยละ 2 หรือเพียง 295,764,203 บาท

ปัญหาภัยสังคมทั้งหมดเป็นเรื่องภัยคุกคามที่เร่งด่วนและกระทบอย่างรุนแรง ต่อสังคมไทย จนเกินกว่าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับมือป้องกันได้อย่างทันท่วงที จึงสมควรที่วุฒิสภาจะมีข้อเสนอแนะหรือให้คำแนะนำและร่วมเร่งหาทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาญัตติเสนอให้วุฒิสภาตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่มีความสำคัญ 4 ด้าน ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 15 ก.ค.2568

ประกอบด้วย 1. กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน 2.กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน 3.กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาและติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนของประเทศไทยแบบบูรณาการ และ 4.กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีกำหนดเวลาการพิจาณราศึกษา90 วัน

 อ่านข่าว:

“ธรรมนัส”ชี้ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร ย้ำ กล้าธรรมไม่สร้างความขัดแย้ง

"ไผ่ ลิกค์" ยันการเมืองไม่ถึงทางตัน โยน 3 สส.ภท.แจงปมโหวตสวน

กมธ.เศรษฐกิจฯ วุฒิสภา ชงเปิดอภิปรายด่วน ปมภาษีนำเข้า 36%