ความแตกต่าง "วิกฤต COVID-19" กับ "ต้มยำกุ้ง"

เศรษฐกิจ
16 เม.ย. 63
18:40
12,923
Logo Thai PBS
ความแตกต่าง "วิกฤต COVID-19" กับ "ต้มยำกุ้ง"
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ความแตกต่าง ระหว่างวิกฤต COVID-19 ในปีนี้กับวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ส่งผลให้เศรษฐกิจในปีนี้ชะลอตัวอย่างมาก ยอดขายธุรกิจหายไป เช่นเดียวกับรายได้ของประชาชนรายย่อย

วันนี้ (16 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่องวิกฤตรอบนี้ต่างกับเศรษฐกิจปี 2540? โดยระบุว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจในปีนี้ชะลอตัวอย่างมาก ยอดขายธุรกิจหายไป เช่นเดียวกับรายได้ของประชาชนรายย่อย ดังนั้น จึงทำให้หลายฝ่ายนึกย้อนเปรียบเทียบกับวิกฤตการเงินต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 10.5% ว่าเหตุการณ์ในปีนี้จะเหมือนหรือต่างจากปี 2540 อย่างไร ? โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ออกมาใน 3 ด้านหลัก ดังนี้

1. จุดเริ่มต้นของปัญหาในรอบนี้ไม่ได้มาจากการขาดความสมดุลทางเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันกับวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยปี 2540 ต้นตอของปัญหามาจากการที่เศรษฐกิจไทยขาดความสมดุลในหลายด้าน บนอัตราแลกเปลี่ยนที่ผูกติดกับเงินดอลลาร์ฯ จึงทำให้ภาคเอกชนไม่คำนึงความเสี่ยงและใช้จ่ายเกินตัว จนสะท้อนผ่านการเพิ่มขึ้นของการลงทุนและการบริโภคที่สูงกว่าเงินออมที่มี มีการก่อหนี้ต่างประเทศ และมีการเก็งกำไรสินทรัพย์อย่างกว้างขวาง

ขณะที่ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องความสมดุลในลักษณะเดียวกันกับปี 2540 แต่ปัญหาในครั้งนี้เกิดขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งระบาดไปทั่วโลก เป็นปัญหาภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ ดังนั้น การแก้ปัญหาในครั้งนี้ จึงขึ้นกับการจัดการของสาธารณสุขทั่วโลก ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงตัวแปรสำคัญที่ได้แก่ การผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อยับยั้งการระบาดอย่างถาวร

 


2. รอบนี้ไทยมาจากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า โดยแม้เศรษฐกิจไทยจะมีพื้นฐานที่ดีขึ้นกว่าในปี 2540 แต่การเติบโตของเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 (ในปี 2558-2562 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 3.4% ต่อปี เทียบกับเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนเกิดวิกฤตทางการเงินในปี 2540 หรือในช่วงปี 2530-2538 ที่ขยายตัวเฉลี่ยราว 9.9%) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ปัญหาขีดความสามารถของธุรกิจทั้งทักษะแรงงานและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง (สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับประมาณ 80% ต่อจีดีพี เมื่อเทียบกับในอดีตในปี 2540 ที่อยู่ที่ระดับประมาณ 49.2% ต่อจีดีพี) ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับผลกระทบในครั้งนี้จึงกระจายเป็นวงกว้าง ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และประชาชนรายย่อย ซึ่งต่างจากในปี 2540 ที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจะเป็นกลุ่มนายทุน หรือภาคธุรกิจเป็นหลัก

3. มาตรการต่างๆ ของภาครัฐและธนาคารกลางที่ออกมาในรอบนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลไกทางเศรษฐกิจหยุดทำงาน ในขณะที่มาตรการที่ใช้ในปี 2540 เป็นมาตรการเพื่อฟื้นฟูกลไกทางเศรษฐกิจให้กลับมาทำงานอีกรอบ ในปัจจุบันภาครัฐฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกหลายมาตรการเพื่อมาเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสฯ ในครั้งนี้ ซึ่งถือว่ามีความรวดเร็ว รวมถึงมาตรการที่ออกมามุ่งแก้ปัญหากับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยใช้เครื่องมือการเงินการคลังที่หลากหลายมากขึ้น ต่างจากในปี 2540 ที่ในระยะปีแรกๆ ยังปะปนไปด้วยมาตรการทางการคลังแบบรัดเข็มขัด (รัฐลดการใช้จ่าย) และนโยบายที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดถีบตัวสูงขึ้น จนกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ขนาดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบภาครัฐและธนาคารกลางทั่วโลกนำมาใช้ในปัจจุบันนั้น มีวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยขนาดของมาตรการการคลังที่แต่ละประเทศนำมาใช้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ของ GDP ในขณะที่มาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ลดดอกเบี้ยลงเหลือ 0% และมีการทำ QE แบบไม่จำกัด อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์โรคระบาดยังมีความไม่แน่นอน โดยหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น คาดว่าทางการคงพร้อมออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

 


โดยสรุปแล้ว เหตุการณ์โรคระบาดของไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้ถือเป็น Shock ขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้จะมีหลายความแตกต่างจากวิกฤตปี 2540 แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจจนการระบาดของไวรัส COVID-19 สามารถควบคุมได้เร็ว หรือภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ ก็จะทำให้มีโอกาสที่ตัวเลขจีดีพีของไทยจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในปีหน้า ซึ่งแตกต่างจากช่วงวิกฤตปี 2540 ที่ใช้เวลานาน 5-10 ปีว่าจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจและภาคการเงินฟื้นตัวขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ

ทั้้งนี้ ทุกคนสามารถเป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วยให้ปัญหาโรคระบาดของไวรัส COVID-19 ลดลงได้ เพียงปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง