เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2568 พนักงานบางส่วนของโรงงานผลิตกระดาษทิชชู ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ซ.8 ต.บัวลอย อ.หนองแค จ.สระบุรี นั่งรวมกลุ่มกันอยู่นอกรั้วโรงงาน เพื่อติดตามการค้นหาเพื่อนร่วมงาน ที่ยังสูญหายอีก 2 คน พนักงานกลุ่มนี้หนีออกมาได้ทัน ขณะเกิดเพลิงไหม้
นายกฤชกร บุญญานุสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ ยืนยันว่า โรงงานมีระบบความปลอดภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ทั้งระบบ ระบบสปริงเกอร์ดับเพลิง สัญญาณเตือนภัย ช่องทางหนีไฟ จุดรวมพล และโรงงานฝึกซ้อมการหนีไฟเป็นประจำทุกปี รวมทั้งตรวจสอบช่องทางหนีไฟให้พร้อมใช้งานและเป็นไปตามมาตรฐาน
ขณะเกิดเหตุมีพนักงานทำงานประมาณ 120-150 คน ส่วนใหญ่หนีออกมาทางช่องทางหนีไฟ บางส่วนหนีออกมาทางหน้าต่าง และมารวมกันที่จุดรวมพล ส่วนพนักงานที่บาดเจ็บและเสียชีวิต ยืนยัน การเยียวยา และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
"กระดาษทิชชู" ภายในโรงงาน ถูกสันนิษฐานว่า เป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เหตุไฟไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็ว และดับได้ยาก เพราะต้องใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงส่วนใหญ่ไว้ได้
จากการเข้าสำรวจในพื้นที่ เจ้าหน้าที่พบใต้เศษซากปรักพัง และกองวัสดุบางจุด ยังมีความร้อน ที่อาจปะทุซ้ำ จึงปรับแผน ใช้เครื่องจักรเข้าเคลียร์พื้นที่ รายงานตัวเลขผู้สูญหายล่าสุด พบเสียชีวิตแล้ว 8 คน ยังสูญหายอีก 2 คน
โรงงานยืนยันว่าจะให้การเยียวยาเต็มที่แก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงสนับสนุนด้านจิตใจผ่านทีม MCATT ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันภาวะ PTSD ในพนักงานและญาติ ผู้บริหารโรงงานให้คำมั่นว่าจะค้นหาผู้สูญหายที่เหลือต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด เพื่อนำกลับสู่ครอบครัว

ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสระบุรี
ตรวจสอบข้อมูล พบโรงงานแห่งนี้ เริ่มประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2547 แจ้งประกอบเป็นโรงงานลำดับที่ 38 (2) ผลิตกระดาษอนามัย กำลังการผลิต 13,039 แรงม้า คนงาน 123 คน เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งกำหนดให้ต้องแนบแบบแปลนแผนผังโรงงานและระบบป้องกันอัคคีภัย
ไทยพีบีเอส พบข้อมูลว่า ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน ปี 2552 พบว่า โรงงานแห่งนี้ เข้าข่ายเป็น "โรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง" หมายถึง กิจการโรงงานที่มีการใช้ เชื้อเพลิง วัตถุไวไฟ หรือมีลักษณะที่ทําให้ เกิดอัคคีภัย หรือระเบิดได้ง่าย
และจากการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมเบื้องต้นวันนี้ พบว่ามีการติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย แต่ต้องตรวจสอบความพร้อมในการใช้งานอีกครั้ง
ข้อกำหนดของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรณีการติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย จะต้องมีระบบสัญญาณแจ้งเหตุไฟไหม้ โดยเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยง เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ ระบบน้ำดับเพลิงที่ใช้งานได้ต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที ระบบดับเพลิงอัตโนมัติในโรงงานที่มีพื้นที่ต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร การตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ การฝึกอบรมเรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัย และอาคารต้องเป็นไปตามที่กำหนด เช่น โรงงานต้องจัดหาทางหนีไฟที่อพยพ คนงานทั้งหมดออกจากบริเวณที่ทำงาน สู่ที่ปลอดภัย เช่น ถนนสนามนอกอาคารโรงงานได้ภายใน 5 นาที

ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสระบุรี
เอกนัฏสั่งตรวจระบบความปลอดภัยโรงงาน
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม สั่งการให้นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมสุดซอย พร้อมด้วยนายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี สั่งการให้ทีมสุดซอยและอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายบัญชา เชาวรินทร์ และนายอำเภอหนองแค นายสันทัด รันดาเว ตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้และประเมินความเสียหาย
โรงงานถูกสั่งปิดชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง โดยเฉพาะประเด็นที่กระดาษทิชชูเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ทำให้ไฟลุกลามรวดเร็ว นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมกำชับให้โรงงานเร่งเยียวยาผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงดูแลผลกระทบต่อชุมชนรอบนิคม
อ่านข่าวอื่น :
เร่งหาสาเหตุไฟไหม้โรงงานทิชชูสระบุรี เสียชีวิต 8 สูญหาย 2 คน