วันนี้ (10 พ.ค.2563) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-5 พ.ค. 63 มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 10,938 คน เสียชีวิต 9 คน จากข้อมูลการกระจายของผู้ป่วย พบว่า ผู้ป่วยกระจายทั่วประเทศไทย โดยภูมิภาคที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ
กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากสุดคือ 10-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 5-9 ปี และอายุ 15-19 ปี ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ ระยอง ชัยภูมิ อ่างทอง ขอนแก่น และนครราชสีมา

ภาพ:กรมควบคุมโรค
ภาพ:กรมควบคุมโรค
คาดสัปดาห์นี้มีฝนตก-อาจเจอคนป่วยเพิ่ม
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น แม้ว่าจำนวนผู้ป่วย ณ ช่วงเวลาเดียวกันปี 2563 มีรายงานผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2562 ก็ตาม แต่ข้อมูลพยากรณ์อากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงวันที่ 10-13 พ.ค.นี้ ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และหากฝนตกอาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้
ดังนั้น กรมควบคุมโรค แนะนำให้มีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและในชุมชน ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือเก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย