วันนี้ (19 พ.ค.2563) ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระบุว่า องค์การเภสัชกรรมได้สำรองและจัดหายาเพื่อนำมารักษาโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 รวม 7 รายการ โดยมีรายการยาที่ไทยสามารถผลิตเองได้ 5 รายการ ได้แก่
- ยาคลอโรควิน ซึ่งรักษาโรคมาลาเรีย 1.8 ล้านเม็ด
- ยาต้านไวรัสเอดสูตรผสม โลพินาเวียร์-ริโทนาเวียร์ 30.6 ล้านเม็ด
- ยาต้านไวรัสเอดดารุนาเวียร์ 1.9 ล้านเม็ด
- ยาต้านไวรัสเอดริโทนาเวียร์ 1.9 ล้านเม็ด
- ยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย อะซิโธรมัยซิน จำนวน 3.4 ล้านเม็ด
ส่วนยาอีก 2 รายการ ได้แก่ ไฮดรอกซีคลอโรควิน จัดซื้อจากผู้ผลิตภายในประเทศ 1.09 ล้านเม็ด และยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งจะนำเข้ามาเพิ่มเติม 303,860 เม็ด เพราะประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตเองได้ จึงได้นำเข้ายามาจากประเทศญี่ปุ่นและจีน โดยก่อนหน้านี้นำเข้ามาแล้ว 187,000 เม็ด และได้กระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อรักษาผู้ป่วย COVID-19 แล้วประมาณ 100,000 เม็ด ยังคงมียาสำรองในคลังของ อภ. ประมาณ 87,000 เม็ด

นอกจากนี้ องค์การเภสัชกรรมยังได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฟาวิพิราเวียร์ tablets ขนาด 200 มิลลิกรัม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา เบื้องต้น พัฒนาในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสูตรที่เหมาะสม โดยต้องตรวจสอบวิเคราะห์ทั้งด้านกายภาพและด้านเคมี ว่าเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดหรือไม่

เมื่อได้ข้อมูลที่ดีแล้ว จะมีการขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนเม็ดต่อหน่วยการผลิต คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ ม.ค. ปี 2564 เพื่อศึกษาตัวยา และการละลายกับยาต้นแบบ รวมถึงศึกษาความคงสภาพและประสิทธิผลทางชีวสมมูล (Bioequivalence study)
หลังจากนั้นจะทดสอบกับอาสาสมัครสุขภาพดีรับประทาน เพื่อเจาะเลือดวิเคราะห์ปริมาณยาในเลือด แล้วนำมาพล็อตกราฟ ประเมินสถิติที่เหมาะสม เทียบการละลาย การดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดกับยาต้นแบบ โดยจะยื่นขึ้นทะเบียนช่วงปลายปี 2564 และคาดว่า ต้นปี 2565 จะสามารถผลิตจำหน่ายได้

นอกจากนี้ องค์การเภสัชกรรม ยังได้พัฒนาสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ โดยร่วมกับ สวทช.ในการพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบในระดับแล็บสเกล ซึ่งจะใช้เวลา 3-6 เดือน ขณะนี้ใกล้จะเสร็จแล้ว

หลังจากนั้น จะมีการขยายขนาดผลิตเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม คาดประมาณเดือน มิ.ย.2564 จะสามารถสังเคราะห์ได้ต่อไป ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่จะได้พิจารณาร่วมกันลงทุน เพื่อสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบ โดยสร้างเป็นมัลติฟังชันก์ ที่จะสังเคราะห์ตัวยาอื่นๆ ได้ด้วย
คนไข้ 1 คน 70 เม็ด ต่อระยะเวลาการรักษา ดังนั้น การมีสต็อกฟาวิพิราเวียร์ไว้เกือบ 400,000 เม็ด มั่นใจเพียงพอต่อการรักษา แม้อาจจะมีการกลับมาระบาดรอบ 2 เพื่อรอไทยผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้เอง
"วัคซีน" คำตอบสุดท้ายสู้ COVID-19 จีนคืบสู่เฟส 2
ขณะที่ นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ระบุว่า เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องที่ทุกคนตั้งตารอ แต่วัคซีนต้องใช้เวลาพัฒนาก่อนจะมาผลิต ซึ่งขั้นตอนโดยทั่วไปต้องผ่านการคัดเลือกชนิดวัคซีน ไปทดลองในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง หากทดลองผ่านแล้ว จึงจะไปทดลองระยะคลินิก คือการทดลองในคน ซึ่งการทดลองในคน แยกเป็น 3 ระยะ ระยะ 1 ใช้คนจำนวนน้อย เพื่อพิสูจน์ว่าวัคซีนปลอดภัย ส่วนใหญ่ใช้อาสาสมัคร 10 คน

หลังจากนั้นในระยะ 2 จะใช้อาสาสมัครหลักร้อย เพื่อดูว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ และสุดท้ายระยะที่ 3 ต้องทดสอบกับอาสาสมัครจำนวนมาก เมื่อผ่านระยะ 3 ได้ ก็พร้อมจะไปสู่โรงงาน เพื่อผลิตวัคซีนจำนวนมากออกสู่ตลาด ซึ่งขณะนี้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการผลิตวัคซีน รวมถึงไทย
วัคซีนถือว่าเป็นคำตอบสุดท้ายของ COVID-19 ซึ่งหลายคนหวังว่าจะให้เร็ว ซึ่งขณะนี้วัคซีนของจีนเข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว ส่วนสหรัฐฯ ขณะนี้มีบางตัวขออนุญาตทำการวิจัยระยะที่ 1 ควบกับระยะที่ 2 แล้ว