ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แจ้งความ "พยาบาลปลอม" อ้างสังกัดโรงพยาบาลดัง จ.นนทบุรี

สังคม
10 มิ.ย. 63
10:22
23,050
Logo Thai PBS
 แจ้งความ "พยาบาลปลอม" อ้างสังกัดโรงพยาบาลดัง จ.นนทบุรี
สภาการพยาบาล แจ้งความหญิงสาวแต่งชุดพยาบาล-แอบอ้างสังกัดโรงพยาบาลดังแถวจ.นนทบุรี ระบุส่งทีมกฎหมายแจ้งความเอาผิดตาม ม. 27 พ.ร.บ.วิชาชีพฯ โทษจำคุก 1 ปีปรับ 20,000 บาท แนะตรวจบัตรสมาชิกการพยาบาล และใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพฯว่าพยาบาลจริง-ปลอม

กรณีเพจเฟซบุ๊ก ครูพยาบาล ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุมีหญิงสาวที่แอบอ้างตัวว่าตัวเองเป็นพยาบาลวิชาชีพ ทั้งๆ ที่เป็นสาวเชียร์เบียร์ ” #พยาบาลปลอม Vs #ตำรวจจริง เรื่องนี้น่าจับตามองตรงที่การแอบอ้างเป็นพยาบาล โดยเจ้าตัวโพสต์คลิปใน TikTok และอ้างว่าจบจาก #วิทยาลัยบรมราชินี จ.นนทบุรี (อ่านชื่อสถาบันผิดได้อย่างไรนี่ ?) และทำงานที่ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี

วันนี้ (10 มิ.ย.2563) ไทยบีเอสสัมภาษณ์ ผศ.อังคณา สริยาภรณ์ เลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวว่า กรณีที่มีหญิงแอบอ้างว่าเป็นพยาบาลปรากฎเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของสภาการพยาบาลดำเนินการแจ้งความแล้วที่ สภ.เมืองนนทบุรี ตามม. 27 พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 

ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพพยาบาล ต้องสอบขึ้นทะเบียนเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ดังนั้นใครที่มาแอบอ้างถือมีความผิด มีโทษสูงสุดปรับ 20,000 บาท หรือจำคุก 2 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ และหากหญิงสาวนำใบประกอบวิชาชีพปลอมมาแสดงและหากหลอกลวงผู้อื่น ก็จะมาความผิดตามกฎหมายอื่นตามมาด้วย

เตือนห้ามนำเครื่องแบบพยาบาลไปใส่

เลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวว่า ขอเตือนว่าเครื่องแบบพยาบาลมีกำหนดไว้ในราชกิจจานุเบกษา ไม่สามารถนำไปแต่งเองได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวได้ตรวจสอบไปยังสถาบันการศึกษาที่มีการแอบอ้าง ก็ไม่พบว่าจบการศึกษาจากสถาบันดังกล่าว ขณะเดียวกัน ตรวจสอบกับระบบของสภาการพยาบาล ก็ไม่ปรากฎชื่อว่าจบการศึกษา และขึ้นทะเบียนเป็นพยาบาลจริง โดยสถาบันการศึกษาที่ถูกแอบอ้างก็เตรียมจะแจ้งความด้วย

ปกติแล้วเครื่องแบบพยาบาลไม่ได้จำหน่ายตามท้องตลาด ส่วนใหญ่จะสั่งตัดเฉพาะ เพื่อให้มีรูปแบบเดียวกัน เนื่องจากแต่ละสถาบันจะมีชุดที่ไม่เหมือนกัน ส่วนพยาบาลจริง หากสวมเครื่องแบบพยาบาลแล้วมีพฤติกรรม หรือ แสดงกริยาที่ไม่เหมาะสม โพสต์ผ่านสังคมออนไลน์ ก็จะมีความผิดทางวินัยได้

ขณะนี้สภาการพยาบาลกำลังเร่งพัฒนาระบบออนไลน์ เพื่อให้บุคคลภายนอก สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นพยาบาลจริงหรือไม่ ส่วนปัจจุบันการจะตรวจสอบต้องนำข้อมูลชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน และระบุเหตุผลในการตรวจสอบด้วย  

เตือนโทษจำคุก-ปรับ 2 หมื่นบาท

ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบกระทำในลักษณะดังกล่าว เบื้องต้น อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการ” ตาม ป.อาญา มาตรา 145 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ “ห้ามผู้ซึ่งไม่ได้ประกอบวิชาชีพพยาบาล หรือมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ หรือมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ กระทำการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิ์ประกอบอาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 มาตรา 27 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แนะเทคนิคตรวจสอบพยาบาลจริง-ปลอม

กรณีที่เกิดขึ้น เพจเฟซบุ๊ก ครูพยาบาลเล่าเรื่องลูกศิษย์ ได้ออกแนะนำว่าการตรวจสอบพยาบาลจริงหรือปลอม โดยระบุว่า 2 สิ่งสำคัญที่จะบอกว่า พยาบาลคนนั้น "จริง" หรือ "ปลอม" สิ่งแรก บัตรสมาชิกสภาการพยาบาล สิ่งที่ 2 ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการหลอกลวง ควรขอดู 2 สิ่งนี้ เพราะถึงแม้จะเรียนจบพยาบาลศาสตรบัณฑิต 4 ปี แต่ไม่มี 2 สิ่งนี้ ก็ถือว่า "อยู่นอกวิชาชีพฯ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพฯ ตามกฎหมาย"

ชุดพยาบาลที่คุณเห็นอาจจะเป็นแค่ "Cosplay" 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง