ธนาคารโลก ชี้ COVID-19 ทำเศรษฐกิจโลกเสียหายหนักรอบ 150 ปี

เศรษฐกิจ
10 มิ.ย. 63
10:41
5,435
Logo Thai PBS
ธนาคารโลก ชี้ COVID-19 ทำเศรษฐกิจโลกเสียหายหนักรอบ 150 ปี
ธนาคารโลก เผยเเพร่รายงานผลกระทบที่เกิดจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 โดยพบว่าสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลก หนักที่สุดในรอบ 150 ปี คาดเศรษฐกิจโลกจะติดลบร้อยละ 5.2 เเละส่งผลทำให้ประชากรโลกอยู่ในภาวะยากจนสุดขีด 70-100 ล้านคน

วันนี้ (10 มิ.ย.2563) ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ เผยแพร่รายงานผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19  โดยระบุว่า ได้ก่อให้เกิดสภาวะช็อกที่รุนแรงและกะทันหัน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกพังเสียหายเป็นวงกว้างที่สุด นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1870 หรือ พ.ศ.2413 เป็นความเสียหายที่สุดในรอบ 150 ปี แม้ว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะพยายามออกมาตรการต่างมาเยียวยา

ธนาคารโลก ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะติดลบประมาณร้อยละ 5.2 ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่น่ากังวล และเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ ขณะเดียวกันความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ อาจจะทำให้ประชากรโลก 70-100 ล้านคน เข้าสู่ภาวะยากจนสุดขีด มากกว่าตัวเลข 60 ล้านคน ที่เคยประเมินไว้

ส่วนในปี 2564 เเม้จะประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มกระเตื้องและเติบโตได้ประมาณร้อยละ 4.2 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ของ COVID-19 ซึ่งจะเป็นการบ่อนทำลายการฟื้นตัวทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และเปลี่ยนให้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้กลายเป็นวิกฤตทางการเงินซึ่งจะมีกระแสการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทต่าง ๆ

นักเศรษฐศาสตร์พยายามที่จะประเมินความเสียหายจาก COVID-19 โดยเทียบเคียงกับภัยธรรมชาติแต่ก็ยังไม่สามรถเทียบเคียงได้ เนื่องจากผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในหลายมิติ และลามไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก หากสถานการณ์เข้าขั้นเลวร้ายที่สุด คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกอาจจะติดลบถึงร้อยละ 8

รายงานของธนาคารโลก ระบุด้วยว่า จีนเกือบจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตเป็นบวกได้ในปีนี้ แต่ก็เตือนว่าภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะมีส่วนฉุดรั้งการฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะชาติที่พึ่งพาการส่งออก

สำหรับเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะเติบโตประมาณร้อยละ 1 ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ล้วนมีแนวโน้มขยายตัวเป็นลบ เช่น สหรัฐอเมริกา ติดลบร้อยละ 6.1, กลุ่มยูโรโซนติดลบร้อยละ 9.1, ญี่ปุ่นติดลบร้อยละ 6.1, บราซิลติดลบร้อยละ 8, เม็กซิโก ติดลบร้อยละ 7.5 และอินเดียติดลบร้อยละ 3.2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง